กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--สมาคมของขวัญฯ
สมาคมของขวัญฯ ขานรับ BIG และ BIH ตุลาคม 2005 มั่นใจตลาดรวมสินค้าของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้านปีนี้ทะลุเป้า 2,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงปีที่แล้ว เดินแผนใหญ่ทิ้งห่างจากคู่แข่ง ผนึกพันธมิตรกว่า 250 รายตั้ง TGP Club สร้างความแกร่ง เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารพัฒนาสินค้าใหม่ กำหนดเป้าหมายชัด พร้อมจัดหาแหล่งทุนให้สมาชิกออกไปลุยตลาดโลก
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดรวมของสินค้าของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านในปีนี้ คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นราว 8 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับปีที่แล้วซึ่งโตขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดสินค้าประเภทนี้มีการปรับเปลี่ยนทุก 3-6 เดือน นอกจากนั้นสินค้าในกลุ่มนี้ยังมีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนได้ทุกรูปแบบ ดังนั้นตลาดจึงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี
“ตลาดสินค้าของขวัญของชำร่วยฯ ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังคงมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น แต่เราอาจจะต้องปรับราคาบ้างเพื่อให้แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรายังได้เปรียบด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงิน แต่กระนั้นก็ต้องทำการบ้านมากขึ้นเพื่อให้ทันสภาวะตลาด และการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งในด้านราคา รูปแบบสินค้าและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า” นายจิรบูลย์กล่าว
สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดโลกค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะช่วงปลายปีหรือไตรมาสสุดท้ายที่หลายประเทศจะจัดงานแฟร์ในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ทางสมาคมฯ มั่นใจว่างาน BIG & BIH October 2005 (Bangkok International Gift Fair & Bangkok International Houseware Fair : October 2005) จะเป็นงานหนึ่งที่ผู้ซื้อจากต่างประเทศให้ความสนใจและเดินทางมาร่วมและสั่งซื้อสินค้าภายในงานจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องกำหนดราคาขายให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาคนี้ให้ได้
นายจิรบูลย์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ มีแนวทางที่จะพัฒนาสินค้าแตกต่างจากคู่แข่ง โดยรวมกลุ่มสมาชิกของสมาคมตั้งเป็น TGP Club (Thai Gift Premium Club) ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในสมาคมฯ กว่า 170 รายและสมาชิกสมทบอีกกว่า 80 ราย รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 รายจับคู่เจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน จนสามารถร่วมกันพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เข้าตลาดได้ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สมาคมฯ นำมาใช้อย่างได้ผล
“สมาชิกของสมาคมฯ ค่อนข้างหลากหลาย มีความชำนาญต่างกันออกไป แต่ละรายมีความถนัดในงานของตน จึงไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง แต่จะได้ประโยชน์ในแง่ของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน มีการทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น ก่อนหน้านี้สมาชิกหลายรายจะประสบปัญหาการขาดแคลนดีไซเนอร์ แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มกันขึ้น สมาชิกมีการแลกเปลี่ยนด้านวัสดุ ความชำนาญในแต่ละด้าน จนได้สินค้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น”
การรวมตัวดังกล่าวกลายเป็นจุดแข็งให้กับตลาดส่งออกสินค้าของขวัญของชำร่วยฯ ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะรูปแบบสินค้าที่เหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาค เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจะต้องพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาอย่างหนึ่งของไทยคือ ขาดการพัฒนาในด้านวัตถุดิบต้นน้ำ ที่จะนำมาแปรรูปเป็นสินค้าของขวัญของชำร่วย
นายกสมาคมของขวัญฯ กล่าวว่า สมาคมฯ เน้นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกในการออกบูธตามงานแฟร์ต่างๆ ในต่างประเทศ ส่วนกิจกรรมภายในประเทศสมาคมฯ ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อการกำหนดทิศทางธุรกิจที่แม่นยำ นอกจากนั้นยังเจรจาเพื่อหาแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิกในการทำธุรกิจและออกไปแสดงสินค้าในต่างประเทศ
ปัจจุบันตลาดส่งออกของสินค้าของขวัญของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน มีตลาดหลักเป็นประเทศยุโรปประมาณ 40 % รองลงมาคือ ตลาดสหรัฐอเมริกา ประมาณ 35 % ส่วนที่เหลือ 25% เป็นตลาดญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และในภูมิภาคเอเชีย--จบ--