กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กทม.
ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการก๊าซหุงต้มและก๊าซแอมโมเนีย พร้อมมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบสถานประกอบการ รวมทั้งขอความร่วมมือสถานประกอบการในการรักษามาตรการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการพื้นที่เขตพระนคร โดยตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ 9 แห่งในพื้นที่เขตพระนคร แบ่งเป็นสถานที่ใช้แอมโมเนียในการทำความเย็น 3 แห่ง และสถานที่จำหน่ายก๊าซหุงต้ม 6 แห่ง อาทิ สถานโรงน้ำแข็งบริเวณ ถ.พระอาทิตย์ และร้านตะนาวแก๊ส ซึ่งผลจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าโรงน้ำแข็งที่เข้าตรวจสอบมีกลิ่นแอมโมเนียฟุ้งกระจายอยู่ทั่วบริเวณ โดยผู้ประกอบการยังไม่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดกลิ่นแอมโมเนียตามมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งภายในโรงน้ำแข็งยังมีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโรงกลึงเหล็กด้วย ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ประกอบการจัดการเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยเป็นหลัก โดยได้กำชับให้สำนักงานเขตพระนคร ร่วมกับหน่วยงาราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งหากผู้ประกอบการยังเพิกเฉยไม่เร่งดำเนินการแก้ไข เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดถึงขั้นสั่งปิดโรงงาน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันก๊าซหุงต้มและก๊าซแอมโมเนียมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น ทั้งการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนและในสถานประกอบการต่างๆ และการใช้ก๊าซแอมโมเนียในกิจการห้องเย็น และการทำน้ำแข็ง ซึ่งก๊าซหุงต้มและก๊าซแอมโมเนียเป็นก๊าซที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหากผู้ประกอบการละเลยในการปฏิบัติและควบคุม ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ความปลอดภัยอันจะส่งผลต่อการเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้
จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนสถานประกอบการจำหน่ายก๊าซหุงต้ม จำนวน 645 ราย เป็นสถานประกอบการที่มีการใช้ก๊าซหุงต้มรายใหญ่ (ตั้งแต่ 250 ลิตรขึ้นไป) จำนวนกว่า 1,700 ราย โดยสำนักอนามัยร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบสถานประกอบการห้องเย็นและโรงน้ำแข็งที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 20 ปีขึ้น ไปในระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.50 ตรวจสอบพบว่า มีจำนวน 67 ราย และสถานประกอบการต้องมีการปรับปรุงด้านความปลอดภัย เนื่องจากสภาพผุกร่อนของภาชนะรับแรงดันวาล์ว การใช้อุปกรณ์ทำความเย็นที่ไม่ได้มาตรฐาน วาล์วสกัดอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ยังพบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีการจัดทำแผนป้องกันฉุกเฉินที่ชัดเจนกรณีสารแอมโมเนียรั่วไหล อย่างไรก็ตามสำนักงานเขตได้ออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ประกอบกับสำนักอนามัยได้ดำเนินการจัดอบรมผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานผลิตน้ำแข็ง เมื่อวันที่ 2-4 เม.ย. 51 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะการจัดทำแผนป้องกันฉุกเฉินจากการรั่วไหลของสารแอมโมเนียมากยิ่งขึ้น
สำหรับการประกอบกิจการจำหน่ายก๊าซหุงต้ม กิจการห้องเย็นและการทำน้ำแข็งเข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2548 ซึ่งการประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขจากสำนักงานเขตในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ตลอดจนต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 14 เรื่อง การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของ ร้านจำหน่ายก๊าซ เป็นต้น