กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กทม.
กทม.เชิญ กกต.กทม และส่วนกฎหมายของ กกต. หารือพร้อมชี้แจงแนวทางปฏิบัติงานในช่วงเลือกตั้งกรณีไม่ชัดเจนกฎหมายย้อนหลัง 60 วันก่อนครบวาระผู้ว่าฯ หวั่นบกพร่องปฏิบัติหน้าที่ ด้านผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เผยหลังหารือ ได้คำตอบชัดทำงานได้ปกติ ไม่มีเหตุต้องลาออก กกต.กทม.ย้ำหากมีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายจะมีผลย้อนหลังตามกฎหมายทันที
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เชิญกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อตอบข้อหารือและทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและข้าราชการประจำที่สามารถกระทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อร้องเรียนหรือเกิดการกระทำอันผิดกฎหมาย โดยในที่ประชุมมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสำนักงานปกครองและทะเบียนร่วมฟังคำชี้แจง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการต่อ กกต.กทม.เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติตนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นที่จะสามารถกระทำได้หรือไม่ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง วันที่ 28 ส.ค.51 เนื่องจากมีความกังวลต่อข้อกฎหมายย้อนหลังในช่วงเวลา 60 วันคือตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.51 เป็นต้นไป ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่หากไม่มีความชัดเจนตามข้อกฎหมาย โดยในวันนี้ได้รับคำชี้แจงว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถทำได้ปกติ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องลาออก หากการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นการหาเสียงหรือจูงใจให้เลือกหรือจูงใจในลักษณะส่อทุจริตต่อการปฏิบัติหน้าที่ปกติ ในส่วนของการจัดรายการวิทยุทาง จส.100 ทุกวันพุธ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีหาก สามารถทำได้ปกติเช่นกันเนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทมหานคร ที่จะแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ทั้งนี้หากตนลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะหยุดดำเนินการทันที
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่าสิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดคือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพราะเห็นเป็นช่องโหว่จากความไม่ชัดเจนของกฎหมายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานและการให้บริการประชาชน นอกจากนี้การกลั่นแกล้งและใส่ร้ายป้ายสีที่จงใจให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งผู้ร้องเรียนสามารถกระทำได้ แต่หาก กกต.สอบสวนได้ว่ามีการบิดเบือนผู้ร้องจะมีความผิดและถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเช่นกัน
ด้าน นายพิงค์ รุ่งสมัย ประธานกกต.กทม. กล่าวย้ำภายหลังด้วยว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่หากมีพฤติกรรมเข้าข่ายลักษณะการหาเสียงฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 วินิจฉัยแล้วพบว่ามีความผิดจะมีผลย้อนหลังตามกฎหมายทันที สำหรับการประกาศกฤษฎีการการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดวันรับสมัครและวันเลือกตั้งนั้น ต้องรอผลการสรรหากรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งกำลังจะเปิดรับสมัคร ในวันที่ 21-25 ก.ค.นี้ และสรรหาให้แล้วเสร็จต่อไป