กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กทม.
กทม. ผนึกกำลัง สสปน. ร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เป็นมหานครศูนย์กลางการจัดประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้าและนิทรรศการ หรือ ตลาด MICE ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจจัดแสดงสินค้านานาชาติและนิทรรศการในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2553
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ลงนามความร่วมมือ ในการร่วมกันขับเคลื่อนกรุงเทพฯสู่การเป็นมหานครแห่งการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน (Bangkok…The Exhibition City of ASEAN) โดยมีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ สสปน. ร่วมลงนาม เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมให้มีการจัดงานแสดงสินค้าในเขตกรุงเทพฯและประชาสัมพันธ์แคมเปญดังกล่าวให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองชั้นนำด้านการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงให้มีการสืบทอด ถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าระหว่างกัน รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสององค์กรเพื่อพิจารณาในการวางผังเมือง ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมและขนส่งของกรุงเทพมหานครให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยในการแข่งขันระดับชาติ โดยร่วมกันวางแผน กำหนดแนวทาง และดำเนินการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพฯ ในการมุ่งขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : Meeting Incentive Convention and Exhibition) ที่สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ เนื่องจากความพร้อมในหลายๆ ด้าน อาทิ สถานที่การจัดแสดงสินค้า ระบบสาธารณูปโภค โทรคมนาคม การท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย เสน่ห์วัฒนธรรมล้ำค่า เสน่ห์ปลายจวัก เสน่ห์ของการจับจ่าย เสน่ห์แม่น้ำของแผ่นดิน และเสน่ห์เมืองงามยามราตรี เป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาค เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ รวมถึงเกิดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศในที่สุด
ด้าน ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า สสปน. ขานรับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2551 และ2552 เป็นปีแห่งการลงทุนและ ปีแห่งการท่องเที่ยว จึงได้เริ่มดำเนินโครงการ กรุงเทพฯ...มหานครแห่งการจัดแสดงสินค้านานาชาติขึ้น โดยหารือร่วมกับกรุงเทพมหานครในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ โดย สสปน. คาดว่า ในปี 2551 นี้จะมีนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 947,600 คน ซึ่งสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศประมาณ 65,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 20 % และด้วยความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่การเป็นศูนย์กลางแห่งการจัดงานแสดงสินค้าของอาเซียนได้ภายในปี 2553 อย่างแน่นอน
โครงการ “กรุงเทพฯ…มหานครแห่งการจัดแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน” จะเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ซึ่ง สสปน.พร้อมให้การสนับสนุน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียนและของโลกต่อไป