กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กทม.
นางวันทนีย์ วัฒนะ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งที่ 13/2550 เรื่อง ห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ขายอาหารใช้ภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่ออย่างแพร่หลาย เช่น หม้อต้มก๋วยเตี๋ยว หม้อต้มกาแฟ เป็นต้น ซึ่งภาชนะดังกล่าวมักมีโลหะผสมตะกั่วเป็นตัวประสานรอยตะเข็บ โดยเป็นส่วนประกอบของดีบุกร้อยละ 60 และตะกั่วร้อยละ 40 ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำการทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่วในห้องปฏิบัติการด้วยการต้มน้ำในหม้อที่ใช้โลหะผสมตะกั่วเป็นตัวประสานรอยต่อ ซึ่งเป็นหม้อที่ผลิตขึ้นใหม่ โดยต้มที่อุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียส นานต่อเนื่อง 3-9 ชั่วโมง พบว่ามีตะกั่วละลายปนเปื้อนในน้ำต้มและมีปริมาณมากขึ้น หากน้ำมีส่วนผสมของเกลือ ซึ่งเมื่อสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่จะไปสะสมที่กระดูก ตับ ไต กล้ามเนื้อ และระบบประสาทส่วนกลาง ก่อให้เกิดโรคโลหิตจาง ทำลายเซลล์ประสาท และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อห้ามขายสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นการชั่วคราว จนกว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีคำสั่งยกเลิก ทั้งนี้รวมถึงการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าว
ทั้งนี้ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขาย ผลิต สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ ทำการติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด เพื่อดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าดังกล่าวว่าสินค้านั้นไม่อาจเป็นอันตรายผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขาย เพราะสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขาย หรือเป็นผู้สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2544 เกี่ยวกับกิจการโลหะหรือแร่ เพื่อควบคุมดูแลผู้ประกอบกิจการดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการค้า ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบพร้อมกับหลักฐานตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด และต้องปฏิบัติและจัดสถานที่สำหรับประกอบกิจการนั้นให้ถูกต้องตามสุขลักษณะด้วย