กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--โอเค แมส
จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศทางตอนเหนือและตอนกลางเป็นเขตเทือกเขาสูงและที่ราบสูง โดยมีเขตภูเขาสูงด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ในเขตอำเภอวังทอง วัดโบสถ์ เนินมะปราง นครไทย และชาติตระการ พื้นที่ตอนกลางมาทางใต้เป็นที่ราบ และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแหล่งการเกษตรที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก อยู่ในเขตอำเภอบางระกำ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม อำเภอเนินมะปราง และบางส่วนของอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกมีลมมรสุมพัดผ่านจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเรื่อง “ซ้ำซาก” ที่หลายฝ่ายต่างยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด จนกระทั่งได้มีการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์ให้ชลอน้ำไม่ให้ลงมาในพื้นที่ตอนล่างเร็วเกินไป และเป็นการป้องกันปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรภาคเหนือตอนบน ที่เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ การก่อสร้างเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แม้จะเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์ในด้านการป้องกันอุทกภัย และแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่การเกษตรในจังหวัดพิษณุโลกโดยรวม แต่ก็ย่อมมีประชาชนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง อาทิ เรื่องพื้นที่สำหรับก่อสร้างที่ต้องมีการเวนคืน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ลดน้อยลง เป็นต้น นายรังสรรค์ แก้ววิเศษ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านคันโช้ง ตำบลวัดโบส์ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า “การสร้างเขื่อนแควน้อยสามารถช่วยในเรื่องของพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมได้ แม้ว่าชาวบ้านจะได้รับผลกระทบบ้างจากการสร้างเขื่อน เพราะต้องมีพื้นที่ที่ต้องถูกเวนคืน บางครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นบ้างก็ตาม แต่ตัวเขื่อนก็สามารถจะสร้างประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ และจ่ายน้ำให้กับพื้นที่รอบๆเขื่อนได้ ซึ่งบริเวณบ้านคันโช้งเป็นพื้นที่ที่อยู่ด้านบนเขื่อน หากมีฝายทดน้ำเพิ่มขึ้นราษฏรบ้านคันโช้งบ้านคันโช้งก็จะมีความเจริญขึ้น รวมถึงเมื่อได้รับการส่งเสริมอาชีพที่ทางโครงการจัดฝึกอบรมให้ชาวบ้าน จะเป็นการพัฒนาให้กับชาวบ้านได้อย่างครบวงจร และได้ประโยชน์สูงสุด ” นายหลั่ง พุธฉิม ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 บ้านซำหวาย ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า “ บ้านกลางเป็นพื้นที่เหนือเขื่อน ในส่วนของพื้นที่การเกษตรยังไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง จากการสร้างเขื่อน ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่อยู่ทางด้านล่างติดลำคลองถึงจะได้รับประโยชน์โดยตรง ในอนาคตเมื่อมีการทำระบบท่อส่งน้ำหลังเขื่อนแล้วเสร็จจะช่วยให้พื้นที่การเกษตรที่อยู่เหนือเขื่อนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง นอกจากนี้บ้านกลางยังได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการทดลองทำโครงการเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งถ้าได้ระบบน้ำมาช่วย จะช่วยให้ทุ่งนากว่า 1,000 ไร่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า “ จากการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาในระยะหนึ่ง ทางสำนักงาน กปร.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตของประชาชน จังหวัดพิษณุโลก ทั้งที่อาศัยอยู่บริเวณเขื่อน และรอบๆเขื่อนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์ และรับผลกระทบจากการก่อสร้างบ้าง แต่ทางสำนักงาน กปร.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่ต้องถูกเวรคืนที่ ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการไปจนเกือบเสร็จสิ้นทุกพื้นที่แล้ว อีกทั้งทางสำนักงาน กปร.ได้ประสานไปทางโครงการเขื่อนแควน้อยฯ ให้จัดหาโครงการและจังหวัดพิษณุโลกจะมาช่วยพัฒนา และเสริมอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น โดยทางสำนักงาน กปร.และทางโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ ได้มีการประชุมหารือในการจัดหาโครงการเพื่อฝึกอบรมอาชีพเสริม และการพัฒนาชุมชน โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการพัฒนา อาทิ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อรองรับน้ำ , โครงการอยู่ดีมีสุขที่ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของชุมชน , โครงการเกษตรทฤษฏีใหม่ที่จะช่วยในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นต้น ทั้งนี้สำนักงาน กปร. มีนโยบายที่จะจัดหาบุคลากรเพื่อลงพื้นที่พร้อมกับให้การช่วยเหลือฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไป ” ด้านนายชูชาติ ฉุยกลม ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 2 (โครงการเขื่อนแควน้อยฯ) เปิดเผยว่า “ส่วนของการก่อสร้างในปัจจุบันการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อยในขณะนี้ความคืบหน้าของเขื่อนปิดเขาช่องต่ำเสร็จสิ้นแล้ว 100 เปอร์เซนต์ ถึงแม้ว่าจะมีการชลอตัวในการก่อสร้างส่วนอื่นไปบ้างเนื่องจากการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง แต่ก็สามารถที่จะปิดเขื่อนเพื่อทำการกักเก็บน้ำได้แล้ว ซึ่งผลของการทดลองกักเก็บน้ำในเบื้องต้นสามารถรองรับปริมาณน้ำได้เกือบ 300 — 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถที่จะช่วยบรรเทาน้ำล้นตลิ่งได้ โดยการชลอน้ำต่อวินาทีมีถึง 400 — 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะช่วยชลอน้ำไม่ให้ไหลลงมาท่วมพื้นที่การเกษตรได้กว่า 30,000 ไร่ รวมถึงช่วยให้เกษตรกรบริเวณรอบเขื่อนพ้นจากวิกฤตน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน และนอกจากนี้ ทางโครงการเขื่อนแควน้อยฯยังมีการจัดอบรมอาชีพเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการสร้างเขื่อนแล้วเสร็จ ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีโครงการอบรมอาชีพแบบเกษตรทฤษฏีใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาอาชีพในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทางโครงการจะมีการคัดเลือกหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการทดลองโครงการฯ” โครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านเขาหินลาด ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วย เขื่อนแควน้อย เขื่อนสันตะเคียน พร้อมอาคารประกอบ เขื่อนปิดช่องเขาต่ำ มีระบบส่งน้ำฝายพญาแมนพร้อมคลองส่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกของราษฎรในฤดูฝนและฤดูแล้งในพื้นที่ชลประทานแควน้อย และพื้นที่ชลประทานเจ้าพระยา จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 429,166 ไร่ รวมทั้งประโยชน์อื่นๆ เช่น การพัฒนาให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งในอนาคตไม่ไกลนี้ทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างสมบูรณ์เป็นรูปธรรม ส่งผลให้ราษฏรบังเกิดประโยชน์สุขต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ บริษัท โอเค แมส จำกัด
คุณภัทรานิษฐ์ ตันศรีกุลรัตน์ (เอ) โทร.0-2618-7780-4 ต่อ 102 / (081) 700-5224
คุณนภสร จู่พิชญ์ (น้ำ) โทร.0-2618-7780-4 ต่อ 108 / (084) 525-4574
คุณธนพร สุขมี (แหม่ม) โทร. 02-618-7782-4 ต่อ103 / 086-707-4263