กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คว้ารางวัลชนะเลิศในโครงการ “Java? Jive Regional Challenge 2008 - ประเทศไทย” ซึ่งเป็นการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นจาวาครั้งแรกในประเทศไทย จัดโดยบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ค) และสมาคมเวชสารสนเทศไทย โดยนักศึกษาทั้ง 3 คนจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้
Java? Jive Regional Challenge 2008 เป็นโครงการระดับภูมิภาคที่ซันจัดขึ้นในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งประเทศสิงคโปร์ถือเป็นประเทศนำร่องที่จัดโครงการดังกล่าวมาแล้วเป็นปีที่สาม โดยในประเทศไทยได้จัดการแข่งขันนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งหัวข้อในการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นในปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “Keeping IT Real” วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นจาวาที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง สำหรับโครงการในประเทศไทย ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ สาธารณสุข หรือโภชนาการ ซึ่งเกณฑ์การตัดสินประกอบด้วย ความสามารถในการใช้งานได้จริง มูลค่าเชิงพาณิชย์ ความคิดสร้างสรรค์ และการส่งเสริมการสร้างและขยายเครือข่ายออนไลน์ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น จาวา เน็ตบีนส์ ไอดีอี
ทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ‘Snooze Monkey’ ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา 3 คนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยผลงานการออกแบบเว็บแอพพลิชั่นเพื่อลดปัญหาโรคอ้วนซึ่งถือเป็นปัญหาที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถช่วยคำนวณปริมาณแคลอรี่จากอาหารที่แต่ละคนรับประทาน พร้อมแนะนำเมนูอาหารที่มีแคลอรี่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดำเนินการผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปแนะนำสูตรอาหารที่ตนเองชื่นชอบแก่ผู้อื่นและและเคล็ดลับการรักษาสุขภาพเพื่อเป็นการสร้างสังคมออนไลน์ของผู้ใส่ใจสุขภาพได้อีกด้วย
สำหรับรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ ทีม ‘Hurry Up!!’ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงานการสร้างเว็บบอร์ดที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์และให้กำลังใจซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว อีกทั้งมีการให้ข้อมูลและแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยโรคเอดส์ และมีแพทย์อาสาสมัครเข้ามาตอบคำถามในการรักษาสุขภาพและบรรเทาโรคอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับรองชนะเลิศอันดับสองคือ ทีม ‘Angelical’ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเช่นกัน โดยผลงานคือแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทางต่างๆ พร้อมแผนที่ไปยังสถานที่ให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับการเดินทางและสอบถามข้อมูล รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ใช้บริการแต่ละคน
ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจซอฟท์แวร์ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “Java? Jive Regional Challenge 2008 - ประเทศไทย เป็นโครงการที่ซันมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในฐานะที่เราเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นแบบโอเพ่นซอร์ส เราอยากให้เยาวชนไทยได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านไอทีและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งการมีส่วนร่วม เทคโนโลยีเว็บ 2.0 มีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมออนไลน์ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงาม อย่างเช่นในกรณีนี้คือการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม”
ผู้ชนะในโครงการดังกล่าวจะได้รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท พร้อมสิทธิในการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมความรู้ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย และได้เข้าแข่งขันชิงชนะเลิศกับผู้ชนะจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ในงาน Sun Developer Day ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้รับรางวัลเงินสด 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสองได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาท โดยทั้งสามทีมจะพัฒนาปรับปรุงผลงานแอพพลิเคชั่นของตนต่อไปเพื่อนำมาใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ. สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย กล่าวว่า “การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและสังคมออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่แวดวงการแพทย์และสาธารณสุขกำลังตื่นตัวทั่วโลก อีกทั้งประเทศไทยก็ยังต้องการบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มีคุณภาพอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการสาธารณสุขให้พัฒนาไปสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาค (Medical Hub of Asia) ตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น โครงการ Java? Jive Regional Challenge 2008 — ประเทศไทย จึงเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์และเป็นเวทีส่งเสริมความสามารถของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นรุ่นเยาว์ของไทยสู่สายตาของคนในระดับนานาชาติต่อไป”
“ทั้งนี้จากการแข่งขันดังกล่าวทำให้เราตระหนักว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ไม่น้อยหน้าเยาวชนต่างชาติอีกทั้งยังมีความสร้างสรรค์ มีความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีซอฟต์แวร์เป็นอย่างดีจนสามารถนำมาประยุกต์และสร้างเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งทางสมาคมเชื่อมั่นว่าหากเยาวชนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถต่อยอดความรู้เพื่อขยายผลของโครงการที่ได้ดำเนินมาให้เกิดคุณค่าในวงกว้างได้ต่อไป”
ด้านนางวทันยา สุทธิเลิศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ”ซอฟต์แวร์ปาร์ค มีความยินดีที่ได้เป็นผู้สนับสนุนโครงการในครั้งนี้ และชื่นชมที่ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุนการใช้งาน ร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ และพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลในการเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์จะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนตัวแทนของไทยในการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคต่อไป
การแข่งขัน Java? Jive Regional Challenge 2008 รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคระหว่างตัวแทนจากประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะจัดขึ้นในงาน Sun Developer Day ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ที่ประเทศสิงคโปร์
เกี่ยวกับ ซัน ไมโครซิสเต็มส์
ภายใต้วิสัยทัศน์ “The Network Is The Computer” ผลักดันให้ซันมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสำคัญๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง และปรัชญาสำคัญของซัน คือ การเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นกระแสนำในโลกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า ยุคแห่งการมีส่วนร่วม (The Participation Age) ปัจจุบัน ซัน
ไมโครซิสเต็มส์ (สัญลักษณ์หุ้นในตลาดหุ้นแนสแดก: SUNW) มีเครือข่ายครอบคลุมอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซันได้ที่ http://sun.com หรือ http://sun.com.sg
เกี่ยวกับสมาคมเวชสารสนเทศไทย
สมาคมเวชสารสนเทศไทย Thai Medical Informatics Association (TMI) หรือ ชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า ชขพ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2534 โดยความริเริ่มของ อาจารย์แพทย์ผู้มองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการแพทย์ นำโดย
ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศ.นพ.พิศิษฎ์ สัณหพิทักษ์ โดยแนะให้ตั้งเป็นชมรมขึ้นมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ และเพื่อเสนอแนะการพัฒนางานข้อมูลข่าวสารทางแพทย์แก่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย)
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นองค์กรที่สร้างธุรกิจ และเป็นสถาบันทางสังคมการเรียนรู้ในยุคเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และร่วมผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วย 6 บริการหลักได้แก่ 1.) บริการพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2.) ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์ 3.) ICT-Enablement 4.) IT Professional Development 5.) การจัดการกระบวนการการพัฒนาคุณภาพ (Quality Improvement) และ 6.) บริการในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
คุณจันทพร นิยมปีติกุล
บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2344-6811
อีเมล์: Chantaporn.niyompeetikul@Sun.COM
คุณภัทรา จาตนิลพันธ์ / คุณบุญยรัตน์ ยศเมธา
ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
โทร. 0-2610-2362, 2392
อีเมล์: Patra@dcconsultants.co.th