คต. เตือนผู้ส่งออกไทยติดตามการปรับปรุงกฎระเบียบเครื่องสำอางของอียู

ข่าวทั่วไป Tuesday July 8, 2008 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการยุโรปโดย DG Enterprise and Industry ประกาศปรับปรุงกฎระเบียบเครื่องสำอาง (Cosmetic Directive) ซึ่งเดิมมีอยู่กว่า 50 ฉบับ ให้เป็นฉบับเดียวเพื่อใช้ปฏิบัติให้ง่ายขึ้นทั้งอียู เพื่อเป็นการลดภาระที่ไม่จำเป็นสำหรับประเทศสมาชิกและอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์แต่งหน้า น้ำหอม แชมพู สบู่ ยาสีฟันด้วย โดยข้อเสนอการปรับปรุงระเบียบดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
1. กำหนดคำนิยามเพิ่มเติมที่ยังขาดหายไปในคำสั่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
2. ปรับปรุงขั้นตอนให้ง่ายต่อการปรับปรุงรายชื่อส่วนประกอบเครื่องสำอางประมาณ 15,000 สาร ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงข้อมูลอยู่เสมอ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบว่า มีการควบคุมสารนั้นอย่างไร เมื่อใด และสามารถเชื่อมโยงเข้าไปดูข้อคิดเห็นของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้ที่ฐานข้อมูลออนไลน์ในชื่อ“Cosing”(Cosmetic Ingredient) ทางเว็บไซต์ http://ec.europa.eu/enterprise/cosmetics/cosing/
3. ปรับขั้นตอนการยื่นข้อมูลให้ง่ายขึ้น โดยจะมีขั้นตอนการยื่นข้อมูลกลางเพียงแห่งเดียว ทำให้หน่วยงานทางการระดับชาติสามารถหันไปเน้นการทำงานตรวจสอบด้านความปลอดภัยของสินค้าได้มากขึ้น ขณะที่คณะกรรมาธิการฯ จะอำนวยความสะดวกด้านความร่วมมือและการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
4. จัดทำข้อกำหนดขั้นต่ำในการประเมินความปลอดภัยสินค้าเครื่องสำอางโดยภาคอุตสาหกรรม มีกฎระเบียบที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องการประเมินความปลอดภัยสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับภาระข้อผูกพันของภาคอุตสาหกรรม และทำให้ประเทศสมาชิกมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการตรวจพิสูจน์ว่าสินค้าได้ผ่านการประเมินความปลอดภัยอย่างเหมาะสมก่อนวางจำหน่ายในตลาด
อย่างไรก็ดี การปรับปรุงกฎระเบียบฉบับใหม่ของคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวได้เพิ่มข้อกำหนดสำหรับผู้ประกอบการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคจากการใช้เครื่องสำอางมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมและการควบคุมตลาดภายใน (in-market control) ด้วย
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าไทยส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไปอียู มูลค่าเฉลี่ยปีละ 2,700 ล้านบาท โดยในปี 2550 ไทยส่งออก มูลค่า 3,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 15 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยหรือผู้ผลิตที่สนใจส่งออกเครื่องสำอางไปจำหน่ายในตลาดอียูสามารถติดตามรายละเอียดการปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าวเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ DG Enterprise http://ec.europa.eu/enterprise/cosmetics/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ