เคพีเอ็มจี จัดสัมมนาพิเศษในหัวข้อ “การจัดการความเสี่ยงด้านภาษีศุลกากร และแนวทางในการลดค่าธรรมเนียมภาษี”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 8, 2008 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด จะจัดสัมมนาในหัวข้อ “การจัดการความเสี่ยงด้านภาษีศุลกากร และการใช้สิทธิประโยชน์เพื่อลดค่าอากร” โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการผลิตเพื่อการส่งออกในเมืองไทยที่สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยาย โดยการสัมมนาดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 16 กรกฎาคมศกนี้ เวลา 08.30-12.00 ณ ห้องประชุม 1-2 ชั้น 48 อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ
ปัจจุบันนี้รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนหลักปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization — WTO) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเจรจาทวิภาคีเพื่อให้มีการค้าเสรีระหว่างประเทศ (Free Trade Agreement — FTA) เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นผลให้ระดับอัตราอากรโดยทั่วไปลดลง นอกจากนี้ นโยบายการเปิดเสรีทางการค้าเป็นโอกาสให้ธุรกิจได้เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้มากขึ้นจากการเลือกใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เช่น สิทธิประโยชน์จากเขตปลอดอากร และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ
แม้กรมศุลกากรจะมีการตรวจสอบการนำเข้า ณ สถานที่ที่นำสินค้าเข้าหรือส่งสินค้าออกทั้งทางเรือและทางอากาศยาน แต่เพื่อคงรายรับส่วนหนึ่งของรัฐบาลไว้ กรมศุลกากรจึงขยายฐานภาษีโดยหนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้ คือการเพิ่มการตรวจสอบภาษีอากรให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มการตรวจสอบหลังการนำเข้า ซึ่งเดิม หากมีข้อโต้แย้งด้านพิกัดอัตราภาษีศุลกากร หรือราคาศุลกากร จากการตรวจสอบ ณ สถานที่ที่นำเข้า ผู้นำเข้าก็สามารถชำระอากรขาเข้า และขอสงวนสิทธิในการโต้แย้งได้ อันเป็นการจำกัดความเสี่ยงทางด้านศุลกากรได้ในระดับหนึ่ง แต่การตรวจสอบหลังการนำเข้า อาจมีผลให้ผู้นำเข้ามีโอกาสถูกเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงถึง 4 เท่าของมูลค่าสินค้านำเข้าโดยรวมอากรขาเข้าแล้ว กรณีนี้จึงถือเป็นความเสี่ยงของบริษัทหากมิได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ ประเด็นที่เจ้าพนักงานศุลกากรมักเพ่งเล็งเป็นพิเศษและมักทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้เสมอ ได้แก่ ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียม ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ระบุว่า ค่าสิทธิและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับของที่นำเข้า ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นเงื่อนไขในการขายของนั้น ต้องนำมารวมไว้ในราคาซื้อขายของที่นำเข้า นอกจากนี้ ประเด็นอื่นๆ ที่มักเป็นข้อโต้แย้ง ได้แก่ การจัดหาเครื่องมือและแม่พิมพ์ การบริการทางวิศวกรรม การนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเริ่มมีการตรวจสอบเกี่ยวกับ การตั้งราคาในกรณีที่ผู้ขายและผู้นำเข้ามีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) เป็นต้น
ผู้สนใจเข้ารับฟังการบรรยายในวันและเวลาดังกล่าว กรุณาติดต่อสำรองที่นั่งที่คุณภัทรานิษฐ์ ปัญญพิสิทธิ์กุล บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด หมายเลขโทรศัพท์ 02 677 2560
สื่อมวลชน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
วรางคณา พวงศิริ
Account Manager
โทรศัพท์: 0-2653-2717-9 โทรสาร 0-2653-2720

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ