กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เผยข้อมูลการใช้ประโยชน์ FTA แก่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ รัฐเตรียมหนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของเอเชีย ย้ำแนวการดำเนินการเจรจาทุกกรอบให้คำนึงถึง 3 ประการ คือ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายรับทราบ สนับสนุน SMEs เข้ามาใช้ประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพกองทุน FTA
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานเปิดการสัมมนา “ก้าวทันกระแสการค้าเสรี (FTA) ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ” เปิดเผยถึงการรับรู้และการใช้ประโยชน์ จาก FTA ของผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับว่า ปัจจุบันมีการเปิดเสรี FTA ในหลายกรอบ แต่ยัง มีผู้ประกอบการอัญมณีไทยและเครื่องประดับหลายรายที่ยังไม่ทราบผลการเจรจา หรืออาจทราบผลแต่ไม่รู้วิธีการใช้ประโยชน์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ จัดสัมมนาฯ เพื่อเผยแพร่ผลการเจรจา FTA สำหรับสินค้าอัญมณีให้ผู้ประกอบการทราบ และสามารถใช้ประโยชน์จากการเจรจาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นกลุ่มสินค้าที่ภาครัฐให้ความสำคัญในลำดับต้นๆและมีนโยบายต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของเอเชีย หรืออาจกล่าวได้ว่า ภาครัฐมีวัตถุประสงค์ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานอัญมณีเหมือนเมือง“Basel” ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยให้ไทยเป็น “Basel” ของเอเชียนั่นเอง ในปี 2550 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ คิดเป็นมูลค่าถึง 185,000 ล้านบาท ในปี 2551 คาดว่า มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น ถึง 220,000 ล้านบาท และในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2551 มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 65,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 87.20 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการค้าโลกมีการแข่งขันกันมากขึ้น ประเทศต่างๆพยายามเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยก็เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีนโยบายเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ ซึ่งการเปิดเสรีจะช่วยให้ไทยมีแหล่งผลิตพลอยจำนวนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันวัตถุดิบไม่เพียงพอสำหรับป้อนการผลิต อีกทั้งยังสามารถส่งออกได้มากขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ ไทยยังมีการจัดทำ ความตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอื่นๆ นอกจาก FTA ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าไม่ว่าจะเป็นกรอบ WTO หรือ ASEAN ด้วย
“การเจรจาไม่ว่าในกรอบใดๆ ที่จะให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นนั้น สิ่งที่อยากจะฝากให้เป็นแนวทางการดำเนินการ 3 ประการ คือ ประการแรก ภาครัฐฯ จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA และข้อตกลงเขตการค้าเสรีอื่นๆ
อย่างเต็มที่ ประการที่สอง มีมาตรการในการสนับสนุน SMEs ให้เข้ามาใช้ประโยชน์ จาก FTA ต่างๆ โดยภาครัฐฯ จะมีมาตรการในการสร้าง SMEs ให้มีความเข้มแข็ง แต่ภาครัฐฯ ฝ่ายเดียวอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนขนาดใหญ่ควรมีส่วนในการพัฒนา SMEs ด้วย หาก SMEs มีความเข้มแข็ง ก็จะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้วย เกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และหวังให้ SMEs สามารถพัฒนาตัวเองเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ในอนาคต และประการสุดท้าย ขอให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าหรือที่เรียกสั้นๆว่า “ กองทุน FTA ” ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ดูแลอยู่ เพื่อบรรเทาผลกระทบสำหรับอุตสาหกรรมจากการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบต่างๆ” นายวิรุฬ กล่าว
นายวิรุฬกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเองก็ควรศึกษาหาความรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีในกรอบต่างๆ เพื่อให้สามารถเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ได้