การมีส่วนร่วมของประชาชน-โมเดลจำลองสภาพเมือง ทางแก้ผังเมืองกรุงเทพฯในอนาคต

ข่าวทั่วไป Friday November 18, 2005 14:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--JGSEE
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ชี้วิสัยทัศน์ผังเมืองที่ยั่งยืน “กรุงเทพฯ” ต้องเป็นมหานครที่พึ่งตนเองได้ในระยะยาวทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เผยผังเมืองกรุงเทพฯจะยั่งยืนได้ต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากประชาชน ระบุ “โมเดลจำลองสภาพเมือง” สามารถสนองตอบวิสัยทัศน์ผังเมืองที่ยั่งยืนได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
“ผังเมือง” มีผลอย่างมากต่อทรัพยากร ความยั่งยืนของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง นักวิชาการในประเทศต่างๆล้วนเห็นว่า การจัดพื้นที่ใช้สอยในเมืองให้น่าอยู่ มีระบบขนส่งที่สอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอยของเมือง มีความหลากหลายของที่อยู่อาศัย มีความปลอดภัย มีสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่กลางเมืองที่เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆ รูปแบบของเมืองเช่นนี้จะทำให้การจัดบริการสาธารณะ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการทำได้สะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญสามารถช่วยประหยัดพลังงานในการขนส่งได้เป็นอย่างดี ทำอย่างไรผังเมืองกรุงเทพฯจะสามารถตอบรับกับความต้องการดังกล่าวได้
จากรายงานการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยแบบบูรณาการ เพื่อมหานครที่ยั่งยืน : พลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบหมายให้บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินการในประเด็น แนวทางการวิจัยด้านผังเมืองกรุงเทพมหานคร โดย ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจธ. เสนอว่า ผังเมืองกรุงเทพมหานครจะยั่งยืนได้จะต้องมีรูปแบบดังนี้ ผังเมืองต้องเอื้อต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดิน การปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ส่งเสริมความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของชุมชน และต้องสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น
“ระบบเมือง เป็นระบบที่ซับซ้อนและมีตัวแปรต่างๆ ทั้งการขาดองค์ความรู้ทั้งในระดับผู้ใช้และฐานข้อมูล และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้การวางผังเมืองของกรุงเทพฯไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น ศูนย์ตากสิน ที่นักวิชาการหลายๆคนล้วนเห็นตรงกันว่า หากภาครัฐสามารถสร้างศูนย์ตากสินได้จะช่วยให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ เพราะศูนย์ตากสินจะเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนหลายๆแบบเข้าด้วยกัน ถือเป็นฮัปที่ใหญ่ แต่เนื่องด้วยภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มโครงการ ส่งผลให้โครงการบริเวณศูนย์ตากสินต้องหยุดชะงักไป”
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาแผนที่นำทางวิจัยบูรณาการเพื่อมหานครที่ยั่งยืนในด้านผังเมืองกรุงเทพฯ นั้นจะต้องทำวิจัยเกี่ยวกับ “โมเดลจำลองสภาพเมือง” และ “งานวิจัยเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยต้องทำวิจัยทั้งสองด้านไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ได้ผังเมืองที่สมบูรณ์ที่สุด
ดร.กัญจนีย์ กล่าวต่อว่า โมเดลจำลองสภาพเมือง คือโมเดลที่นักวิจัยจากหลากหลายสาขาทั้ง ระบบขนส่ง วิศวกรรม นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เข้ามาร่วมเป็นทีมวิจัย เพราะการจะสร้างโมเดลจำลองสภาพเมืองให้สมบูรณ์แบบที่สุดต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย เนื่องจากโมเดลดังกล่าวจะต้องสามารถประมวลผลปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตและกิจกรรมของเมืองหลวง เข้ามาใช้ในการจำลองสภาพการเติบโตของเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต “โมเดลจำลองสภาพเมือง” ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ควรนำมาใช้ประกอบการจัดทำผังเมืองในอนาคต เพราะในปัจจุบันการจัดทำผังเมืองใหญ่ๆหลายแห่ง อาทิ ชิคาโก ก็เริ่มมีการใช้โมเดลนี้ในการประเมินการเติบโตของเมืองและปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผังเมืองที่ได้สามารถรองรับการเติบโตและรับมือกับปัญหาต่างๆได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ “โมเดลจำลองสภาพเมือง” ยังสามารถอัพเดทข้อมูลได้ตลอดเวลา ทำให้โมเดลดังกล่าวมีการปรับตัวอยู่เสมอ ส่งผลให้ข้อมูลที่มีอยู่สะท้อนความเป็นจริงของเมืองได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะระบบจะก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทฤษฎีเมืองให้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น ทำให้หากมีการก่อสร้าง พัฒนาพื้นที่ หรือสร้างระบบสาธารณูปโภคใดๆก็สามารถใช้โมเดลนี้ช่วยทำนายความเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้
ส่วน “งานวิจัยเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” นี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผังเมืองสามารถตอบสนองกับความต้องการของคนกรุงเทพฯได้อย่างแท้จริง และนำไปสู่การใช้ผังเมืองอย่างยั่งยืน เนื่องจากข้อสรุปหนึ่งที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังขาดการรับรู้ข่าวสารและการมีส่วนร่วมในการวางผังเมือง และไม่ทราบว่าตนจะได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมดังกล่าวได้อย่างไร
ส่วนที่ว่าโครงการเมกะโปรเจ็คต่างๆของรัฐบาลทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ยิ่งทำได้ครอบคลุมทุกเขตได้ยิ่งดี แต่รัฐอาจต้องมีการวางแผนด้วยว่าจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของรถไฟฟ้าที่จะสร้างนั้นอยู่ตรงไหน และเมื่อสร้างแล้วจะสามารถเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่นๆได้สะดวกมากน้อยเพียงไร จะต้องมีการพัฒนาจุดเชื่อมต่อดังกล่าวให้เป็น Sub-Center ของเมืองให้ได้ ซึ่งที่ผ่านรัฐบาลมองโครงการเมกะโปรเจ็คเหล่านี้เป็นแค่ระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น
ดร.กัญจนีย์ กล่าวต่อว่า ข้อสรุปของงานวิจัยแผนที่นำทางการวิจัยด้านผังเมือง คือหากจะมีการจัดทำผังเมืองของกรุงเทพฯในอนาคต จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการจำลองสภาพเมืองในอนาคต เพื้อคาดการณ์การเติบโตของเมืองไปพร้อมกับการพัฒนาระบบการจัดเก็บและป้อนข้อมูล และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้การทำผังเมืองสามารถรองรับการเติบโตของเมืองและเป็นที่ยอมรับของคนกรุงเทพฯ และสามาถนำผังเมืองดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์ JGSEE
โทร. 0-2298-0454 e-mail: pr@pr-trf.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ