กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน ๑๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สุพรรณบุรี จันทบุรี นครราชสีมา หนองคาย สุราษฎร์ธานี ชุมพร และพังงา ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายทุกพื้นที่แล้ว และจากการติดตามลักษณะอากาศในระยะนี้ พบว่า จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกชุกติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม ๑๓ จังหวัด ๕๙ อำเภอ ๓๑๖ ตำบล ๑,๔๖๙ หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดน่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สุพรรณบุรี จันทบุรี นครราชสีมา หนองคาย สุราษฎร์ธานี ชุมพร และพังงา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๓๒๖,๐๘๖ คน ๗๒,๔๘๖ ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน ๒๐๒ หลัง พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหาย ๔๔๑,๒๐๙ ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น ประมาณ ๒๔๕,๖๕๐,๑๑๔ บาท ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่แล้ว สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานไปยังจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสบภัยจัดเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในเบื้องต้น พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจติดตามลักษณะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในระยะนี้ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มในพื้นที่ จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว เตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อให้ ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ ทั้งนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป