กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ รอบ 5 มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีส่วนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไทยไม่รับข้อเสนอที่ล่วงล้ำการบังคับใช้กฎหมายไทย พร้อมยื่นเสนอให้มีการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สำหรับเรื่องการค้าบริการ และการลงทุน ทีมเจรจาเตรียมเสนอรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางการเปิดตลาดแบบ Positive List Approach หรือ Negative List Approach
นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ รอบ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 26 — 30 กันยายน 2548 ที่ East-West Center มหาวิทยาลัยฮาวาย เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า การเจรจามีความคืบหน้าหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่จะช่วยเปิดโอกาสให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดสหรัฐฯ อาทิ เรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การเปิดตลาดสินค้าเกษตร และการลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี
อย่างไรก็ตาม ยังมีการเจรจาในบางเรื่องที่คณะเจรจาจำเป็นที่จะต้องขอรับนโยบายจากรัฐบาลว่าจะตัดสินใจให้ใช้แนวทางการเจรจาเปิดตลาดแบบ Positive List Approach หรือ Negative List Approach อาทิ เรื่องการค้าบริการ และการลงทุน
สำหรับเรื่องที่มีความคืบหน้าอย่างมากคือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROOs) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าสินค้าใดจะสามารถเข้าตลาดของแต่ละฝ่ายโดยได้รับการลดภาษี โดยไทยได้หยิบยกสินค้าหลายรายการที่หากได้แหล่งกำเนิดสินค้า จะเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก และเห็นว่าหากสหรัฐฯ ใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวด ไทยก็จะใช้กฎฯ ที่เข้มงวดต่อสินค้าสหรัฐฯ ที่จะเข้าตลาดไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ ไทยจะยื่นข้อเสนอแหล่งกำเนิดสินค้าแต่ละรายการ (Product Specific Rules) ให้สหรัฐฯ พิจารณาแหล่งกำเนิดของสินค้าของไทย
นอกจากนี้ การเจรจาเรื่องเปิดตลาดสินค้าเกษตรก็มีความคืบหน้าไปมาก โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับข้อเสนอ (Offers) รายการสินค้าของแต่ละฝ่ายที่ได้มีการยื่นให้กันหลังการเจรจารอบที่ 4 และทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนรายการสินค้าที่แต่ละฝ่ายจะขอให้ลดภาษีในเบื้องต้น (requests) ในปลายเดือนตุลาคมนี้
สำหรับการเจรจาหัวข้ออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งประกอบไปด้วย อุปสรรคเทคนิคทางการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) และมาตรฐานสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Sanitary and Phytosanitary Standards: SPS) ก็มีความคืบหน้าเช่นกัน โดยเรื่อง TBTทีมเจรจาฝ่ายไทยได้หยิบยกสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการที่ประสบปัญหาด้านมาตรฐานในการเข้าตลาดสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เสนอให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างความเข้าใจในกฎระเบียบที่จะเป็นอุปสรรคทางการค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าเข้าไปยังสหรัฐฯ ได้สะดวกขึ้น ส่วนการเจรจาในหัวข้อ SPS ทีมเจรจาของไทยได้ผลักดันให้สหรัฐฯ ยอมรับให้บรรจุเรื่องการจัดตั้งกลไกถาวรในการแก้ไขปัญหามาตรฐานสินค้าเกษตรที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ซึ่งกลไกนี้จะมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายอุปสรรคการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในปัจจุบัน อาทิ ผลไม้หลายชนิดที่ยังนำเข้าจากไทยไม่ได้ ทั้งที่มีมูลค่าตอบแทนสูงต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย
ยืนกรานใช้กม.คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย
นายนิตย์กล่าวถึงการเจรจาของกลุ่มทรัพย์สินทางปัญญาว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า ต่อเนื่องจากการเจรจากันใน 4 รอบที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ ยืนยันข้อเสนอให้ไทยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มงวดกว่าในปัจจุบัน ซึ่งไทยยังคงยืนยันการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ของไทย
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาของไทย รวม 4 เรื่อง คือ 1.เรื่องการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเน้นหลักการแบ่งปันผลประโยชน์กับเจ้าของภูมิปัญญา หากมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของอีกฝ่ายไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 2.เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการคุ้มครองผ้าไหมและข้าวหอมมะลิของไทย 3.ความร่วมมือระหว่างกัน เช่น การอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของ SMEs ไทย และ 4.เรื่องการเป็นเจ้าของสิทธิร่วมกัน (co-ownership) ในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ ในการเจรจารอบนี้ ยังไม่มีการหารือในเรื่องสิทธิบัตรแต่อย่างใด
สหรัฐฯ ยอมให้ใช้กม.แรงงานสิ่งแวดล้อมไทย
ในการเจรจากลุ่มแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทและการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศที่ใช้กับเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐฯ ยืนยันการเคารพสิทธิในการบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดนโยบายคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมของแต่ละฝ่าย
นอกจากนี้ ได้มีการหารือด้านความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องพัฒนาความสามารถเจ้าหน้าที่ของไทย ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมเรื่องแรงงานสัมพันธ์ การคุ้มครองแรงงาน และความปลอดภัยของแรงงาน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น สหรัฐฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ของไทย
ผลเจรจานอกรอบ ณ กรุงวอชิงตัน
หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ กล่าวถึงการเจรจานอกรอบ ก่อนการเจรจารอบ 5ณ กรุงวอชิงตัน ว่า มีการหารือใน 3 หัวข้อ ประกอบด้วย เรื่องการจัดซื้อโดยรัฐ เรื่องโทรคมนาคม และการส่งเสริมขีดความสามารถทางการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งในเรื่องการจัดซื้อโดยรัฐนั้น ทีมเจรจาฝ่ายไทยได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับนโยบายกฎระเบียบ บทบาทหน้าที่ และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดซื้อทั้งในระดับรัฐบาลกลางและระดับมลรัฐ จากการไปศึกษาดูงานหน่วยงานด้านการจัดซื้อของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแสวงหาโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าสู่ตลาดของสหรัฐฯ ได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการเจรจาเรื่องโทรคมนาคมในรอบนี้ มีการหารือเฉพาะในส่วนของการกำกับดูแลเท่านั้น และทีมเจรจาด้านโทรคมนาคมของไทยได้มีโอกาสศึกษาดูงานและพบปะหารือกับผู้แทนของ Federal Communication Commission (FCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของสหรัฐฯ สมาคมผู้ประกอบการดาวเทียม และกลุ่มผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม โดยข้อมูลที่ได้รับเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาประกอบการพิจารณากำหนดท่าทีของไทยต่อไป
ส่วนเรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถทางการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (TCB/SMEs) ได้หารือถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่จะส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยสร้างความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน และ SMEs ไทยเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มีความสลับซับซ้อน และมีความสำคัญยิ่งต่อการเข้าสู่ตลาดของสหรัฐฯ ตลอดจนส่งเสริมโอกาสทางการค้าของ SMEs ไทย โดยการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) และสร้างเครือข่าย (networking) กับภาคเอกชนสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับช่องทางความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และพัฒนาศักยภาพในการวิจัยด้านยาอีกด้วย--จบ--