10 ปีแห่งการเป็นพันธมิตร SME ของธนาคารกรุงเทพ สนับสนุน SME ยืนหยัดอย่างเข้มแข็งในยุคโลกาภิวัตน์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 10, 2008 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ธ.กรุงเทพ
นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้ผลกระทบที่ตามมานั้นมีความรุนแรงและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการลง รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SME ธนาคารกรุงเทพ ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยเพราะ SME คือรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ หากธุรกิจกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนให้เข้มแข็ง ก็จะกลายเป็นพลังสำคัญทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง
ในปี 2542 ธนาคารกรุงเทพ ภายใต้การนำของคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ได้ริเริ่ม “โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME” ขึ้นมาควบคู่กับการพัฒนาธุรกรรมทางการเงินของธนาคาร ทั้งด้านการบริการและเทคโนโลยีเพื่อให้สนองความต้องการเอสเอ็มอีได้ตรงจุดยิ่งขึ้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นศตวรรษใหม่ของธนาคารที่เข้าไปให้บริการเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร ทั้งด้านความรู้และการเงิน ตามสโลแกน “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่ธนาคารยึดถือมาตลอด ทั้งนี้โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตามลำดับตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 10 ปีเต็มที่ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อเอสเอ็มอีมากมายหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง
แนวคิดโครงการเพื่อ SME
ในการจัดทำโครงการสนับสนุน SME ธนาคารได้ดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ภายใต้กระบวนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เป็นจุดอ่อนของ SME และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ เพื่อพิจารณาว่าธนาคารจะเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อย่างไร จึงจะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SME ได้อย่างแท้จริง
การออกไปเยี่ยมเยียน SME ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนำทีมโดยคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ และผู้บริหารของธนาคาร เป็นแนวทางหนึ่งของกระบวนการการศึกษาและทำความเข้าใจในวิธีการบริหารงานของ SME เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการสนับสนุนที่จะเกิดประโยชน์กับ SME อย่างยั่งยืน
ผลการศึกษาดังกล่าวได้ถ่ายทอดออกมาเป็นการพัฒนาหลักสูตรอบรม สัมมนา ตลอดจนเผยแพร่เป็นหนังสือและวารสารรายไตรมาส SME NEWS ของธนาคาร เพื่อให้ความรู้กับนักธุรกิจ SMEเป็นประจำ ทั้งนี้ด้วยความตั้งใจจริงของธนาคาร และกระบวนการทำงานที่หวังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SME ในระยะยาวนี้ ในปี 2547 ธนาคารจึงได้รับการยกย่องว่ามีโครงการสนับสนุนเอส SME ดีเด่นจากสถาบันต่างประเทศ
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้จัดกิจกรรมด้านความรู้เพื่อสนับสนุน SME อย่างต่อเนื่อง ในด้านการสัมมนา ได้มีการสัมมนาในหัวข้อต่างๆ ไปแล้ว 38 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมสัมมนา 23,000 คน ส่วนการอบรมผู้ประกอบการในหลักสูตรที่ธนาคารพัฒนาขึ้นเอง 2 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรแผนธุรกิจ SMEได้มีผู้ประกอบการอบรมไปแล้วกว่า 66 รุ่นทั่วประเทศ มีผู้เข้ารับการอบรม 3,577 ราย 2.หลักสูตรบริหารการเงินและต้นทุน ได้มีผู้ประกอบการอบรมไปแล้วกว่า 33 รุ่น มีผู้เข้ารับการอบรม 1,495 ราย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารแรกที่ได้จัดกิจกรรมในลักษณะนี้เพื่อ SME อย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมสัมมนาเพื่อ SME
การสัมมนาที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 สะท้อนถึงความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการทำธุรกิจของ SME ได้ชัดขึ้น จนสามารถสอดแทรกประเด็นที่มองเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปรับตัวของ SME หัวข้อสัมมนาที่ธนาคารกรุงเทพเลือกจัดทำขึ้นในแต่ละปีจึงแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ธนาคารอยากให้ SME ได้ปรับตัวในช่วงดังกล่าว โดยหัวข้อการสัมมนามีดังนี้
- ปี 2542 หัวข้อการสัมมนา “SME กับการพัฒนาที่ยั่งยืน”
- ปี 2543 หัวข้อการสัมมนา “ยุทธศาสตร์ธุรกิจ SME
- ปี 2544 หัวข้อการสัมมนา “ธรรมาภิบาลกับความสำเร็จของ SME
- ปี 2545 หัวข้อการสัมมนา “บริหารอย่างไรให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์”
- ปี 2546 หัวข้อการสัมมนา “เครือข่ายคุณภาพ: ปัจจัยสำเร็จของ SME
- ปี 2547-48 หัวข้อการสัมมนา “การสร้างกำไรจากความแตกต่าง”
- ปี 2548-49 หัวข้อการสัมมนา “SME กับการปรับตัวในยุคพลังงานแพง”
- ปี 2549 หัวข้อการสัมมนา “เครื่องจักรพื้นฐาน สร้างรากฐานเอสเอ็มอี”
- ปี 2550 หัวข้อการสัมมนา “SME ยุคใหม่ชนะการแข่งขันด้วยความรู้และปัญญา”
เริ่มงานสัมมนาประจำปี : เส้นทางสู่ความสำเร็จของ SME
ปี 2545 ธนาคารได้เริ่มทำการศึกษาหาแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของ SME วิธีการศึกษาได้ใช้ทั้งการสัมภาษณ์ การตอบแบบสอบถาม การจัดประชุมสัมมนา ผลการศึกษาพบว่า เส้นทางสู่ความสำเร็จของ SME ไม่มีสูตรตายตัว แต่ความสำเร็จของธุรกิจจำนวนมากเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยสำคัญๆ คล้ายๆ กัน หรือไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เส้นทางสู่ความสำเร็จของ SME แยกออกได้ 3 ประเด็น ปัจจัยพื้นฐาน ความสามารถในการแข่งขัน การสร้างคุณค่า จากความเข้าใจดังกล่าว ในปี 2545 ธนาคารกรุงเทพ จึงได้ริเริ่มจัดสัมมนาประจำปี “เส้นทางสู่ความสำเร็จของ SME” ซึ่งต่อมาถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของธนาคาร ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารจะมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการ SME ตั้งแต่ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารท่านอื่นๆ
ในส่วนของสัมมนา จะเป็นการนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จของผู้ประกอบการชั้นนำของประเทศ ซึ่งล้วนเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งเจ้าของกิจการเหล่านี้ได้เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเติบโตจาก SME เล็กๆ มาเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ และอยู่อย่างยั่งยืน วิธีการบริหารจัดการธุรกิจของท่าน และวิธีการทำให้ธุรกิจมีกำไร
- ปี 2547-2548 สัมมนาประจำปีภายใต้แนวคิด คิดอย่าง SME หัวข้อเรื่อง “ยุทธศาสตร์การสร้างและสานต่อธุรกิจ SME” เป็นการเล่าประสบการณ์ของนักธุรกิจที่เติบโตมา 2 แนวทาง จากทายาทผู้ต้องขึ้นมากุมบังเหียนของครอบครัว และผู้สร้างธุรกิจด้วยตนเอง
- ปี 2549 สัมมนาประจำปี เรื่อง “การสร้างกำไรจากความแตกต่าง” นำเสนอประสบการณ์ 4 ผู้ประกอบการที่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจจนประสบความสำเร็จ
ปี 2550 สัมมนาประจำปี เรื่อง “ธุรกิจกับโลกาภิวัตน์” ด้วยรูปแบบการปรับตัวอันหนึ่งของนักธุรกิจไทยในยุคโลกาภิวัตน์นี้ คือ การออกไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยนักธุรกิจจำนวนหนึ่งเชื่อว่า การลงทุนต่างประเทศกลายเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุผลของการลดต้นทุนการผลิตหรือในการเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาด ในที่นี้รวมไปถึงนักธุรกิจระดับ SME ที่เริ่มมีการไปลงทุนในต่างประเทศ ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมการผลิต
จากการอบรมหลักสูตร แผนธุรกิจ SME
ไปสู่การรวมตัวเป็น “ชมรมบัวหลวง SME
การที่ธนาคารกรุงเทพจัดอบรมผู้ประกอบการในหลักสูตรแผนธุรกิจ SME ทำห้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมกลายเป็น “ชมรมบัวหลวง SME” ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรแผนธุรกิจของธนาคารกรุงเทพ หลังจากที่ธนาคารทำการอบรมผู้ประกอบการ SME ได้ 3 ปีเศษ ทำให้มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 1,800 คนทั่วประเทศ ผู้เข้ารับการอบรมแต่ละรุ่นมีความสนิทสนมกัน มีการนัดพบกัน ทำให้เกิดแนวคิดว่า ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงกันในระดับกว้างกว่านี้ ในขณะนั้น คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ได้เน้นเสมอว่า SME นั้นควรทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายธุรกิจระหว่างกัน จะทำให้เข้มแข็งมีพลัง จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อหาวิธีการเชื่อมโยงผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดเข้าด้วยกัน สามารถสรุปได้ว่าให้มีการตั้งเป็นชมรม เรียกว่า “ชมรมบัวหลวง SME” จึงถือกำเนิดขึ้นมาในเดือนกันยายน ปี 2546 ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อทำแผนกลยุทธ์ ให้ได้มาซึ่งประโยชน์สูงสุดกับสมาชิก พร้อมกำหนดกรอบการทำงานที่ได้รับจากท่านประธานกรรมการบริหาร ในการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายธุรกิจระหว่างกันเพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ โดยเน้นใน 3 เรื่อง คือ เครือข่ายความรู้หรือเครือข่ายคุณภาพ เครือข่ายการผลิต และเครือข่ายตลาด
ในปี 2550 ได้มีการริเริ่มงานที่เรียกว่า “ให้ SME ปรับตัวให้เข้ากับยุคโลกาภิวัตน์” โดยเริ่มพาสมาชิกออกไปดูงานต่างประเทศ ประเทศแรกคือ ไต้หวัน โดยใช้เวลาดูงานรวม 7 วัน ทั้งหน่วยงานเอกชนและภาครัฐที่สนับสนุน SME และครั้งที่ 2 เมื่อต้นปี 2551 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีธุรกิจ SME หนาแน่นแห่งหนึ่งของเอเชีย
นอกจากนี้ทางชมรมได้มีการเปิดให้บริการซื้อขายสินค้าผ่านระบบ อี คอมเมิรช์ หรืออินเตอร์เน็ท พื่อให้เข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ที่ต้องใช้ไอทีในการทำธุรกิจและต้องเชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยมีการทำเว็บไซด์สำหรับซื้อขายสินค้าในระบบออนไลน์ให้กับสมาชิกชมรม เพื่อโอกาสใช้บริการเปิดร้านค้าออนไลน์ฟรี ในชื่อเวปไซด์ว่า www.Thaismecity.com ซึ่งจะเชื่อมกับเวปไซด์ www.BLCSME.com ของชมรม
ลูกค้าธนาคารกรุงเทพได้รับรางวัล “ธรรมาภิบาลดีเด่น’
ปี 2544 ธนาคารได้ร่วมกับสถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ จัดสัมมนาในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับความสำเร็จของ SME” พร้อมกับเข้าร่วมจัดประกวด SME ผู้มีธรรมาภิบาลดีเด่นที่สถาบันป๋วยจัดขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งบริษัทชุมชนเภสัชกรรม จำกัด (มหาชน) ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น จากจำนวน 186 แห่งที่ได้รับการเสนอชื่อ
สร้างสรรค์หลากหลายผลิตภัณฑ์สนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME
ธนาคารกรุงเทพ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการขยายธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม เพื่อรองรับปริมาณความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SME ในรูปแบบต่างๆ ภายใต้โครงการ ‘บัวหลวง SME’ ซึ่งล้วนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ประกอบด้วย
สินเชื่อ ‘เงินกู้บัวหลวงเพื่อ SME’ เพื่อขยายการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ สินเชื่อนี้เหมาะกับธุรกิจทุกประเภทที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของ SME
สินเชื่อรวมใจพัฒนา SME สินเชื่อระยะสั้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการลงทุนและขยายธุรกิจ
สินเชื่อโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเติบโตได้ใช้สินทรัพย์อย่างคุ้มค่า และแปลงเป็นเงินทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยายธุรกิจ ปรับปารุงกิจการ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์
สินเชื่อเพื่อธุรกิจ นับเป็นทางเลือกที่หลากหลายตั้งแต่การให้สินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียนไปจนถึงสินเชื่อเพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่และการซื้อสินทรัพย์ถาวร
สินเชื่อตามโครงการของรัฐบาล ผู้ประกอบการธุรกิจ SME สามารถรับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติจากโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและพัฒนาโครงสร้างทางธุรกิจ
สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการปรับปรุงหรือฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรสำหรับลูกค้า SME โดยธนาคารกรุงเทพร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สนับสนุนลูกค้า SMEของธนาคารเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยวงเงินกู้พิเศษเพิ่มเติมจากสินเชื่อเดิม
เพื่อใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักร ปรับปรุง ซ่อมบำรุง ติดตั้ง ทดแทนชิ้นส่วน ระบบต่างๆ รวมทั้งการขยายหรือปรับแต่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ ระบบ โดยยังใช้โครงสร้างเครื่องจักรเดิม รวมถึงการติดตั้งเครื่องจักรหรือระบบควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม
สินเชื่อบัวหลวงประหยัดพลังงาน เพื่อสนับสนุนให้ SME ลงทุนในการพัฒนาพลังงานทดแทนและอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
สินเชื่อเครื่องจักรเพื่อธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการซื้อเครื่องจักรใหม่สำหรับใช้ในการขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์
10 ปีข้างหน้า ธนาคารมอง ‘SME’ อย่างไร
การเติบโตของกระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเพิ่มอัตราความเร็วไม่หยุดยั้งจะมีส่วนเร่งให้การแข่งขันระหว่างประเทศมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ธุรกิจไทยต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ เช่น จีน เวียดนาม ทั้งในตลาดโลกและในประเทศ
การพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) และเทคโนโลยีของจีนจะเป็นโจทย์สำคัญว่า กระบวนการผลิตสินค้าและบริการของไทยจะต้องมีการพัฒนาเร็วเท่าใดจึงจะแข่งขันกับจีนได้ ถ้าประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้เร็วเท่าจีน การผลิตของไทยก็จะแพ้จีนในการแข่งขันเสรี และต้องลดระดับลงมาแข่งกับประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม ขณะที่เวียดนามเองก็เร่งฝีเท้าของตนให้เร็วขึ้น ถ้าไทยไม่สามารถแข่งกับเวียดนามได้ก็ต้องลดระดับการแข่งขันลงมา
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดแรงงานในภาพรวม ทำให้ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ระดับค่าแรงของไทยก็ไม่ได้มีระดับต่ำอีกต่อไป ความได้เปรียบในด้านแรงงานจึงไม่มี โจทย์ของประเทศไทยจึงอยู่ที่การยกระดับผลิตภาพและประสิทธิภาพให้สูงขึ้นในกระบวนการผลิตของเอกชนอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ข้อตกลงเกี่ยวกับผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรและกระบวนการผลิตก็ได้รับความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้ จนมีการลงนามในกรอบความตกลงระหว่างประเทศ เช่น ในกรณีของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน และครอบคลุมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิ่งแวดล้อม เช่น ปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย สิทธิเสรีภาพของประชาชนและแรงงาน กลายเป็นโจทย์ที่ประเทศไทยต้องตอบให้ได้ เช่น การส่งออกอาหารจะต้องมีความปลอดภัย
ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์เหล่านี้ให้ได้ สำหรับเอกชนแล้ว หัวใจของการปรับตัวอยู่ที่การเพิ่มผลิตภาพมากกว่าการเพิ่มปัจจัยการผลิต ซึ่งอาจทำได้โดยการยกระดับนวัตกรรมของธุรกิจไทยผ่านเทคโนโลยีและความรู้ ซึ่งความรู้กลายเป็นปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่กระบวนการเรียนรู้ SME ไม่สามารถดำเนินการได้ลำพัง จึงควรจะเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง 3 พันธมิตรคือ ฝ่ายภาครัฐ ฝ่ายภาคเอกชน และฝ่ายภาคปัญญาชนคือมหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
การรวมกลุ่มเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณภาพ หรือ Value chain ระหว่างผู้ประกอบการ SME ด้วยกันเองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
สรุปแล้ว คุณสมบัติของ SME ที่จะอยู่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ ผู้ที่มีความสามารถที่จะควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจากระบวนการโลกาภิวัตน์ คือ การมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การยกระดับ Productivity และ Innovation การมีพันธมิตรธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ และการเชื่อมโยงกับต่างประเทศทั้งในรูปแบบของการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาซัพพลายเชนกับคู่ค้าเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจในยุคนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ