กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
“ซายน์ปาร์ค” เปิดอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ต้อนรับภาคเอกชน เข้าสู่ตลาดเทคโนโลยี เสริมทัพ ภาคการผลิตด้วยงานวิจัยและพัฒนา พร้อมผลักดัน “นิคมวิจัย” เปิดโอกาสผู้เช่าพื้นที่ ผู้ประกอบการภาคเอกชน หน่วยงานวิจัย และมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนไอเดียสร้างธุรกิจฐานความรู้
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP: THAILAND SCIENCE PARK) เริ่มต้นจากความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนให้มีความสามารถทางการแข่งขันก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลง
ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวในงาน Services @TSP ว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นนิคมวิจัยที่ตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสทางการตลาดให้กับภาคเอกชนได้เข้าถึงบริการในงานวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจร โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังได้รับผลกระทบจากประเทศที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงและประเทศที่มีค่าแรงต่ำ ดังนั้นภาคเอกชนไทยจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยจึงร่วมสนับสนุนแนะนำบริการต่างๆในงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้าถึงข้อมูลและบริการมากขึ้น ทั้งยังเชื่อมโยงภาคการผลิตกับงานวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างนวัตกรรมและศักยภาพทางการแข่งขัน
ดร.สุพัทธ์ กล่าวอีกว่า สถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยของไทย มีความก้าวหน้าในงานวิจัยและพัฒนาไม่ด้อยไปกว่าประเทศใดในโลก ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันให้มีการนำความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหน่วยงานเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ถ้าองค์ความรู้ด้านงานวิจัยและพัฒนาสามารถ “เข้าถึงผู้ใช้หรือผู้ผลิต” ได้ ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวด้วยว่า จุดเด่นของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯถือเป็นนิคมวิจัยแห่งแรกของประเทศที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามา “เช่าพื้นที่” ในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่อย่างสะดวก รวดเร็วและครบวงจร การจัดงาน Services @TSP ในครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทั้งผู้เช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯและอุตสาหกรรมต่างๆบริเวณใกล้เคียงได้มารับฟังข้อมูลและการแนะนำบริการต่างๆ ที่มีอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งได้รับผลตอบรับจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี โดยมีบริษัทสนใจเข้าร่วมงานนี้กว่า 100 บริษัท และผู้ประกอบการจำนวนกว่า 200 คน
6 ปีที่ผ่านมาของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้ผลักดันให้มีบริการในการวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามกระแสความต้องการของตลาดนอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างผู้เช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯกับหน่วยงานวิจัยต่างๆภายในสวทช.(สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ)ระหว่างผู้เช่าพื้นที่กับมหาวิทยาลัยใกล้เคียงทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันเอไอที หรือระหว่างผู้เช่าพื้นที่ด้วยกันเอง “กิจกรรมที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯมีแผนจะดำเนินการต่อไปในอนาคต คือ กิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่เดียวกัน ให้รู้จักกัน ผ่านกิจกรรมวิชาการหรือกิจกรรมสันทนาการ เพราะหากทุกคนรู้จักกันมากขึ้นก็จะทำให้กลายเป็นชุมชนวิจัยขนาดใหญ่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างคนสองคนมีคนละหนึ่งไอเดีย แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันและกัน จากหนึ่งไอเดียอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองสามไอเดียก็ได้และหลากหลายไอเดียในที่สุด การดำเนินงานก็จะรุดหน้าเพราะสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างครบวงจร กลายเป็นธุรกิจฐานความรู้ที่เติบโตไปพร้อมกัน”ดร.เจนกฤษณ์ กล่าวในตอนท้าย
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามข้อมูลข่าวและภาพเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณ ธณาพร นุ่นมัน 02-270-1350-4 ต่อ 104, 086-612-0912
E-mail: prtmc@yahoo.com