กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กทม.
กรุงเทพมหานครลดความเสี่ยงของประชาชน เร่งดำเนินการจัดระเบียบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งตู้น้ำดื่ม โรงน้ำแข็ง และสถานที่สะสมแก๊ส มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ดร.วัลลภ สุวรรณดี เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานของเจ้าพนักงานสาธารณสุข โดยมีหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลจาก 50 เขต ร่วมหารือถึงแนวทางปฏิบัติในการควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 3 ประเภท ได้แก่ ตู้จำหน่ายน้ำดื่มหยอดเหรียญ โรงงานน้ำแข็งและห้องเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น และสถานที่สะสมแก๊สและร้านจำหน่ายแก๊ส โดยผู้ประกอบดังกล่าวต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จากฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข สำนักงานเขตในพื้นที่
ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลทั้ง 50 เขต ออกตรวจตู้จำหน่ายน้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่พบผู้ประกอบการหลายรายยังไม่ได้ขอใบอนุญาตประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ผู้ประกอบการรีบดำเนินการให้เรียบร้อย โดยจะต้องเสียค่าใบอนุญาตจำนวน 2,000 บาท และตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่เปิดให้บริการจะต้องมีค่าปนเปื้อนของแบคทีเรียที่อาจจะทำให้เกิดโรคไม่เกิน 2.2 MPN หากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใดมีค่าปนเปื้อนของแบคทีเรียที่อาจจะทำให้เกิดโรคเกิน 2.2 MPN ผู้ประกอบการจะต้องปิดเครื่องปรับปรุงให้มีค่าปนเปื้อนของแบคทีเรียที่อาจจะทำให้เกิดโรคเกินไม่เกินที่กำหนดจึงเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่แล้วให้ติดสำเนาใบอนุญาตไว้ที่ตู้
สำหรับโรงงานน้ำแข็งและห้องเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกตรวจพบข้อบกพร่องของโรงงานน้ำแข็งและห้องเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น จำนวน 46 ราย ได้แก่ โรงน้ำแข็ง 35 ราย และห้องเย็น 11 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้ว หากเจ้าหน้าที่ตรวจอีกครั้งพบว่า ยังไม่ดำเนินการแก้ไขจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และหากยังฝ่าฝืนจะถูกพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
ในส่วนของสถานที่สะสมแก๊สและร้านจำหน่ายแก๊ส สำนักงานเขต ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สถานีดับเพลิงในพื้นที่) และสำนักเทศกิจ ออกตรวจตามสถานประกอบการตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเก็บรักษา การขนส่ง การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 สำหรับการค้าปลีกวัตถุอันตราย ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. 2549 โดยเน้นในเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าที่ป้องกันการจุดระเบิด สายไฟต้องร้อยท่อให้เรียบร้อย พื้นที่ตั้งถังแก๊สต้องยกสูง ปริมาณการเก็บสะสมแก๊สในอาคารตึกแถวต้องไม่เกิน 2,000 ลิตร หากเกิน 500 ลิตร ต้องติดตั้งระบบส่งสัญญาณเมื่อแก๊สรั่ว รวมถึงสถานประกอบการต้องติดตั้งถังดับเพลิงให้เพียงพอตามกฎหมาย นอกจากต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากกรุงเทพมหานครแล้ว ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายแก๊สจากกรมธุรกิจพลังงานด้วย หากสถานประกอบการใดไม่มีใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับ 10,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ผู้ประกอบขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ของทั้ง 50 สำนักงานเขต