กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ ในปี 2550 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 3 รองจากแองโกล่า และอินเดีย โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 3,820.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯโดยใช้สิทธิ GSP สูงในปี 2550 ได้แก่ เครื่องรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ ยางเรเดียล ชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ อาหารปรุงแต่ง ถุงมือทำจากยาง เม็ดพลาสติก และเลนส์แว่นตา เป็นต้น
สำหรับมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ของไทยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.51) ไทยยังมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เป็นอันดับ 3 เช่นเดิม โดยมีมูลค่า 1,174.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีมูลค่า 1,329.47 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.7 ทั้งนี้ เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิ GSP สินค้าเครื่องรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ (พิกัดฯ 7113.19.50) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยในปี 2550 ลดลงจากปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 700.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 615.20 เหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ เครื่องรูปพรรณทำด้วยโลหะเงินฯ ยางเรเดียล ชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ อาหารปรุงแต่ง ถุงมือทำจากยาง เครื่องปรับอากาศ และเลนส์แว่นตา เป็นต้น
นางอภิรดี ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทบทวนครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้พิจารณาคงสิทธิ GSP ให้สินค้าพรมถัก/ทอด้วยมือ และผ้าคลุมพื้นให้แก่ไทยด้วย ตามที่ไทยได้ชี้แจงต่อสหรัฐฯ ว่าไทยไม่มีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ถอนสิทธิ GSP สินค้าของบางประเทศ ได้แก่ สินค้าสร้อยคอทำด้วยทองคำ (พิกัดฯ 7113.19.29) จากประเทศอินเดีย (ไทยยังคงได้รับสิทธิ GSP อยู่) และเครื่องรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า (พิกัดฯ 7113.19.50) จากประเทศตุรกี ซึ่งไทยได้ถูกถอนสิทธิรายการนี้ไปแล้วเมื่อปี 2550
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้ประกาศทบทวนการให้สิทธิ GSP ประจำปี 2551 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องขอยกเว้นเพดานการส่งออก (CNL Waiver) ให้แก่สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าสหรัฐฯ เกินระดับเพดานที่กำหนด (ปี 2551 เท่ากับ 135 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 จึงขอให้ผู้สนใจติดตามข้อมูลการส่งออกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นคำร้องต่อไป รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 หรือ 02 547 4872 โทรสาร 02 547 4816 www.dft.go.th, www.ustr.gov