กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2550 ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้ลงนามในสนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty) และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศสมาชิก มีผลบังคับใช้ตามกำหนดในปี 2552 เพื่อปฏิรูปการทำงานและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกให้มีประสิทธิภาพ เป็นประชาธิปไตย มีความโปร่งใส และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ใน Lisbon Treaty ให้ความสำคัญลำดับแรกกับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มที่ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น Lisbon Treaty บ่งชี้ว่า EU จะผลักดันอย่างเต็มที่ต่อไปในการนำมาตรการที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เช่น การใช้ระบบ EU Emission Trading Scheme (ETS) กับสาขาการบินในสาย การบินระหว่างประเทศที่ให้บริการในยุโรป และมีแนวโน้มจะใช้กับสาขาการเดินเรือต่อไป
นอกจากนี้ European Commission กำลังเตรียมจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน และล่าสุดยังมีการเสนอให้ยุโรปดำเนินมาตรการทางภาษีกับสินค้าจากต่างประเทศที่ผลิตโดยไม่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมปรับตัวกับกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้า ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาตลาดส่งออกของไทย เป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยในตลาดโลก
ทั้งนี้ ใน Lisbon Treaty ยังได้เน้นย้ำประเด็นอื่นอีก เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยมักถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย รวมทั้งแรงงานไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองต่าง ๆ มาโดยตลอด ซึ่งไทยจะต้องตระหนักในปัญหาดังกล่าว
อธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา European Parliament (สภายุโรป) ได้ให้การสนับสนุนในการประกาศใช้ CL (Compulsory License)ของไทย โดยได้เน้นย้ำประเด็นดังกล่าวในการเจรจา FTA ของคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศของ European Parliament ซึ่งส่งผลดีต่อไทย
อนึ่ง EU เป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 2 รองจากอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 600,000 ล้านบาท โดยในปี 2551 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 285,843.17 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.18