กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--พพ.
ระหว่างวันที่ 6 — 7 มิ.ย. 2551 นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ได้นำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชม “โครงการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสดงอาทิตย์แบบผสมผสานร่วมกับความร้อนเหลือทิ้ง” ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย
นายพานิช กล่าวว่า โครงการ ฯ ดังกล่าว เป็นโครงการนำร่องมาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร โดย พพ. ได้ร่วมกับ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานร่วมกับความร้อนเหลือทิ้งจากเครื่องปรับอากาศจำนวน 2 ชุดๆ ละ 2 ตัน จำนวน 32 แผง รวมพื้นที่กว่า 70 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันทางโรงแรม ฯ ได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่การติดตั้งเป็นกว่า 300 ตารางเมตร โดยสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำร้อนได้วันละประมาณ 22,500 ลิตรต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมด และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 1,212,763 บาทต่อปี โดยคาดว่าที่เหลืออีกร้อยละ 30 จะดำเนินการได้ในปีนี้
ทั้งนี้ โครงการ ฯ ดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ทางโรงแรมประหยัดพลังงานไฟฟ้าในส่วนของการผลิตน้ำร้อนแล้ว ยังทำให้เครื่องปรับอากาศมีการระบายความร้อนได้ดีขึ้น ยืดอายุการใช้งานและประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีก ที่สำคัญการลงทุนติดตั้งดังกล่าว สามารถคืนทุนได้ไม่เกิน 2 ปีซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนเป็นอย่างมาก จนทำให้โรงแรมฯ ได้รับรางวัลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงานหลายรางวัล โดยเฉพาะปี 2550 ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2007 และรางวัล ASEAN ENERGY AWARD 2007 ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า(OFF-GRID)
“โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นต้นแบบให้กับสถานประกอบการอื่น ซึ่งจากแผนพลังงานทดแทน 5 ปี(2550-2554) พพ. ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีความสนใจ ให้สามารถติดตั้งได้ 40,000 ตารางเมตร โดยจะมีเงินทุนช่วยสนับสนุน 30% โดยในปี 2551 นี้ พพ. คาดว่าจะติดตั้งได้ 5,000 ตารางเมตร ในปี 2552 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,500 ตารางเมตร ในปี 2553 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10,000 ตารางเมตร และในปี 2554 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 17,500 ตารางเมตร ตามลำดับ” นายพานิชกล่าว
นอกจากนี้ พพ. ยังได้จัดพาสื่อมวลชน เยี่ยมชมโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโครงการที่ พพ.ได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านความรู้ ข้อมูล และสนับสนุนด้านเงินลงทุน ได้แก่ โครงการไบโอดีเซลชุมชน ที่เทศบาลนครเชียงราย ซึ่งเป็นการพึ่งพาตนเองในการผลิตไบโอดีเซลชุมชน เพื่อใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้าน “ห้วยก้างปลา” ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กขึ้นใช้เองในบริเวณหมู่บ้าน