นักวิจัยเตือนประชาชนระวังบริโภค “เห็ดเมา”พิษร้ายในหน้าฝน

ข่าวทั่วไป Friday July 11, 2008 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย
นักวิจัยเตือนชาวบ้านที่นิยมเก็บเห็ดป่ามารับประทานช่วงหน้าฝนนี้ให้ระวังเห็ดเมามีพิษ ระบุพิษบางชนิดมีฤทธิ์รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ในฤดูฝนนับเป็นช่วงที่เห็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดี ชาวบ้านจึงมักนิยมเข้าป่าเพื่อเก็บเห็ดมาขาย หรือปรุงอาหาร หากแต่ว่าในธรรมชาติมีเห็ดหลายชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่รับประทานได้ ดังนั้นหากผู้บริโภครู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำข้อมูลผลการศึกษาการจำแนกเห็ดและกลไกการเกิดพิษจากเห็ดเมาในประเทศไทยมาแนะนำประชาชน พร้อมทั้งเสนอแนะให้เร่งศึกษาวิธีการจำแนกเห็ดที่ถูกต้อง ตลอดจนกลไกการเกิดพิษ เพื่อเป็นแนวทางในการหามาตรการในการป้องกันดูแลและรักษาอย่างทันท่วงที
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวว่า เห็ดมีพิษที่พบอยู่ทั่วโลกมีประมาณ 100 ชนิด ซึ่งผลการศึกษาเห็ดเมาในประเทศไทยพบว่าเห็ดเมาที่พบมากในภาคเหนือ เช่น เห็ดไข่ห่าน(amanita virosa)ภาคกลาง เช่นเห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน ภาคใต้ เช่น เห็ดหัวกรวด เห็ดขี้ควาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เห็ดระโงกหิน เป็นต้น
“ กลไกการเกิดพิษของเห็ดเมาสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. กลุ่มเห็ดที่เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร มักพบในเห็ดที่ขึ้นบริเวณที่โล่งแจ้ง อาทิ เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน(Chlorophyllum molybdites)แม้จะตั้งชื่อครีบเขียวอ่อนแต่เมื่อสังเกตจากรูปร่างแล้วกลับไม่พบสีดังกล่าวเลย ส่วนวิธีการจำแนกทำได้โดยนำเห็ดที่บานเต็มที่แล้วมาเคาะดูสปอร์ซึ่งจะพบมีสีเขียวมะกอก หากรับประทานเข้าไปจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ในกรณีเด็กอาจเกิดภาวะการขาดน้ำอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
2. กลุ่มเห็ดที่เป็นพิษต่อตับอย่างรุนแรง เช่น เห็ดในกลุ่มระโงก พบได้บ่อยทางภาคอีสานหรือภาคเหนือของประเทศไทย คือเห็ดกลุ่มนี้มีทั้งชนิดที่รับประทานได้และไม่ได้ ซึ่งวิธีการจำแนกด้วยรูปลักษณ์ภายนอกทำได้ยากมาก ขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังมีการศึกษาเห็ดในกลุ่มนี้น้อยมาก โดยในเบื้องต้นถ้าเป็นเห็ดระโงกกลุ่มมีพิษจะมีสีขาวถึงนวลและสีน้ำตาล รวมทั้งมีลักษณะของวงแหวนที่ลำต้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ศึกษาไว้ชนิดหนึ่งคือ เห็ดไข่ห่าน(Amanita virosa) พบว่ามีสารพิษในกลุ่ม Amatotoxin มีฤทธิ์ขัดขวางการสร้างเซลล์โปรตีนของเซลล์ตับ ทำให้เซลล์ตับตาย และเคยเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตทั้งครอบครัวของชาวบ้านที่จังหวัดอุดรธานีมาแล้ว และ 3. กลุ่มเห็ดที่เป็นพิษต่อระบบประสาท พบมากในเห็ดเมาที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เห็ดระโงกหิน มีลักษณะคล้ายเห็ดระโงกทั่วไป บางชนิดมีสีสันที่ฉูดฉาด เช่นAmanita muscariaมีพิษก่อให้เกิดอาการชักกระตุก อาเจียน ท้องเสีย น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล รูม่านตามีขนาดเล็กลง ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ และเสียชีวิตได้ในที่สุด”
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เห็ดมีพิษในธรรมชาติหลายชนิดมีความคล้ายคลึงกับเห็ดที่รับประทานมากจนยากที่จะจำแนกได้ว่าเห็ดชนิดใดมีพิษหรือไม่มีพิษ ดังนั้นจึงไม่ควรนำเห็ดที่ไม่รู้จักมารับประทาน หากแต่ว่าทุกวันนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากยังมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น ถ้านำน้ำต้มเห็ดมาแตะกับช้อนเงินแล้วเป็นสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ, หากเป็นเห็ดเมาเมื่อใส่หัวหอมจะเป็นสีดำ,เห็ดที่มีสีสวยเท่านั้นจะเป็นเห็ดพิษ หรือเห็ดที่มีแมลงกัดกินย่อมรับประทานได้ ซึ่งทีมวิจัยเคยเพาะเชื้อเห็ดไข่ห่านขาว ผลปรากฏว่าพบแมลงหวี่เกิดขึ้น บ่งชี้ว่ามีแมลงหวี่ในธรรมชาติไข่ไว้ในครีบของเห็ดและแมลงอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นหากความเชื่อดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงก็ไม่ควรนำมาเป็นข้อปฏิบัติ
อย่างไรก็ดีสำหรับคำแนะนำเพื่อให้การรับประทานเห็ดอร่อยและปลอดภัย ศ.นพ. ยง กล่าวว่า หลักสำคัญคือต้องรู้จักเห็ดชนิดนั้นเป็นอย่างดีก่อนจะนำมาปรุงอาหาร ส่วนในรายที่สงสัยว่าเกิดอาการจากเห็ดพิษให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อล้างท้องโดยด่วน และควรนำเห็ดที่รับประทานไปให้แพทย์ดูด้วยจะทำให้ช่วยเหลือได้ทันการ
จากภาพ
1. Amanita muscaria (บนซ้าย)
2. เห็ดไข่ห่าน (บนขวา)
3. เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน (กลาง)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและภาพประกอบได้ที่
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 148

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ