กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ระยะยาวที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) และระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทซึ่งมีมูลค่ารวมหนึ่งหมื่นล้านบาทที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มเครดิตของบริษัทมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสะท้อนถึง ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) รวมถึงประสบการณ์และชื่อเสียงของบริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศอันยาวนาน การผลิตปิโตรเคมีที่ครบวงจรดังกล่าวทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิดซึ่งทำให้บริษัทสามารถเลือกแผนการผลิตที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และยังช่วยลดความผันผวนของรายได้อีกด้วย อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น โดย IRPC มีสัดส่วนหนี้สินลดลงอย่างมากเนื่องจากการเพิ่มทุนและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมาก แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทยังคงลดลงในปี 2550 แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted Net Debt to EBITDAR) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.6 เท่าในปี 2550 จาก 1.4 เท่าในปี 2549 แต่อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 0.9 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 (คำนวณโดยใช้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าย้อนหลัง 12 เดือน) ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สิน (Funds from Operations Adjusted Net Leverage) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.5 เท่าในปี 2550 จาก 1.3 เท่าในปี 2549 แต่ได้เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 0.8 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 (คำนวณโดยใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินย้อนหลัง 12 เดือน) อย่างไรก็ตามการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2551-2554 ตามแผนการลงทุนในเฟสที่ 2 น่าจะทำให้หนี้สินและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทสูงขึ้นในช่วงปี 2552 ถึง 2554 ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนใหม่ จะช่วยให้หนี้สินและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทลดลงหลังจากปี 2554 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีข้างหน้าน่าจะอยู่ในช่วง 2.0 ถึง 2.5 เท่า
ฟิทช์กล่าวอีกว่า IRPC ยังได้รับประโยชน์จากการที่มี บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยบริษัทสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานจากการร่วมดำเนินการกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. อย่างไรก็ตามการพึ่งพากันในการดำเนินธุรกิจและการผลิตระหว่างบริษัทกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและการผลิตของ IRPC ค่อนข้างจะเป็นอิสระและมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรอยู่แล้ว
ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของบริษัท ถูกลดทอนจากปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่นตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดของบริษัท อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการการกลั่นน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นและมีความคล่องตัวในการเลือกน้ำมันดิบและผลิตผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงการพึ่งพาการส่งออกที่ค่อนข้างสูงในธุรกิจปิโตรเคมีเนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตโพลีเมอร์เกินความต้องการใช้ภายในประ เทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดหาน้ำมันดิบเนื่องจากบริษัทยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบในสัดส่วนที่สูง
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันและสถานะทางการตลาดที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเอาไว้ได้ เนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย และสามารถจะรักษาสัดส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ในช่วงที่ธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในช่วงวัฎจักรขาลงและในช่วงที่มีการลงทุนในระดับที่สูงขึ้น
IRPC (เดิมชื่อบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)) ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 โดยเริ่มดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย ต่อมาได้มีการขยายการผลิตขึ้นไปยังการกลั่นน้ำมันจนทำให้บริษัทเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทย ที่มีการผลิตครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย IRPC เป็นบริษัทกลั่นน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับสองและเป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ หลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน IRPC สามารถเพิ่มทุนและหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ได้ในช่วงปลายปี 2548 โดยมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และได้เข้ามาบริหารจัดการการดำเนินงานของบริษัท โดย ณ สิ้นปี 2550 ปตท. ถือหุ้น IRPC อยู่ร้อยละ 33.7 ในขณะที่กลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลถือหุ้นรวมกันร้อยละ 30
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, วสันต์ ผลเจริญ,Vincent Milton, + 662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน