กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
หนังสารคดี งานที่ทำด้วยใจ กับ 2 สาวคู่ซี้ “ป๊อป อารียา ชุมสาย & นก นิสา คงศรี
“หลายครั้งที่มีคนถามเราว่าทำไมถึงเลือกทำหนังสารคดี คำตอบง่าย ๆ ก็คือ หนังสารคดีเป็นการเล่าเรื่องจากความเป็นจริง ไม่มีการปรุงแต่ง แม้จะเป็นการทำงานที่ยาก และต้องอาศัยความอดทน แต่เราก็มีความสุขที่ได้
ติดตามเก็บภาพความเป็นจริงเหล่านั้นเพื่อนำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราว และส่งต่อให้แก่ผู้ชม”
นี่คือความคิด และความตั้งใจของคู่ซี้ 2 ผู้กำกับสาว “ป๊อป อารียา ชุมสาย และ นก นิสา คงศรี” คนที่มีใจอยากทำสารคดี จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่ใจเห็นตรงกัน โดยเริ่มทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก คือ “เด็กโต๋” จนได้รับการตอบรับที่ดีมาก มาถึงวันนี้ ก็ได้สานต่อและพร้อมที่จะนำเสนอสารคดีเรื่องที่สอง “ปักษ์ใต้บ้านเรา” ที่เป็นการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของชาวใต้มาให้ได้รับรู้กัน
ก่อนอื่นต้องมาย้อนถึงการก้าวเข้ามาทำภาพยนตร์เชิงสารคดี ของทั้งสองสาวนี้ก่อนว่า มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไรถึงมาจับงานด้านนี้ โดยเฉพาะ ป๊อป อารียา ที่ทุกคนทั่วประเทศรู้จักกันในนาม นางสาวไทย
ซึ่งคำตอบที่ได้จาก 2 ผู้กำกับสาว คือ การทำสารคดี มันให้เราได้เรียนรู้ชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่แตกต่างจากเรา และสอนให้เราอดทนมากขึ้น
ป๊อป อารียา บอกเล่าเก้าสิบว่า “คือเรา 2 คน ได้ผ่านงานมาหลายรูปแบบแล้ว อย่างนก เขาเคยทำหนังฟอร์มใหญ่มาแล้ว และเราก็เคยอยู่ในที่ที่ยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเคยอยู่บนจุดสูงสุดของประเทศมาแล้ว และการที่เข้ามาอยู่ในที่ที่เล็กกว่า มันจะมีอิสรภาพมากในการที่เราจะตัดสินใจเองได้ ทำอะไรเองได้เลย”
“และการที่ได้มาสัมผัสการทำสารคดี เราได้เจอคนดี เราได้ผ่านในสิ่งที่เรารู้จักตัวเองมากขึ้น อดทนมากขึ้นรู้รสชาติของชีวิตของคนมากขึ้น เพราะตอนทำ เด็กโต๋ ไม่เคยเข้าไปในทุ่งข้าว ไม่รู้ว่าปลูกข้าวปลูกยังไง ไปอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีวัตถุในการปรุงแต่งชีวิต แต่พวกชาวบ้านสามารถมีความสุขกับชีวิต และพวกเขาก็แข็งแรง กว่าใครหลาย ๆ คน ที่อยู่บนพื้นฐานชีวิตที่อาศัยวัตถุในการครองชีพ”
“ยิ่งได้มาทำเรื่อง ปักษ์ใต้บ้านเรา ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับคนมุสลิม จากมุมมองเก่า ๆ ของเรา ถ้ามองภายนอกผ่าน ๆ ไม่ได้คุยกับเขา จะมองว่า เขาดุหรือเปล่า ไม่น่าจะคุยด้วย เพราะตัวดำ ๆ มีหนวดมีเครา ดูนิ่ง ๆ ไม่พูดอะไรมาก แต่พอได้มานั่งคุยกับเขาแล้ว โอ้ !! ต้องบอกว่าเขามีของนะ และคำพูดที่ทำให้ยังคงฝังใจอยู่จนทุกวันนี้คือ คนเราจะจนไม่เป็นไร แต่อย่าจนน้ำใจ อย่าจนความคิด คือเขาจนแต่เขามีความคิด สอนลูกให้ดี และเป็นสามีที่ดี เป็นพ่อที่ดีกับลูก แค่นี้ก็พอแล้วสุดยอดมาก ๆ”
ส่วนนก นิสา โลดแล่นอยู่ในวงการโฆษณา และภาพยนตร์มานักต่อนักแล้ว จนมาถึงวันนี้...ได้ทำในสิ่งที่ใจอยากทำ คือ การทำภาพยนตร์สารคดี ถึงแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ไม่เป็นที่นิยม ไม่ได้สร้างรายได้มหาศาล แต่ทำแล้วมีความสุขเกิดขึ้นภายในใจก็พอ
นก นิสา บอกเล่าเก้าสิบว่า “การทำหนังแต่ละเรื่องก็คือการเรียนรู้ชีวิต เพราะเราเข้าไปอยู่กับคนจริง ๆ เข้าไปมีชีวิตจริง ๆ และ 1 ปีที่เข้าไปอยู่ในบ้านแม่โต๋ กับเรื่องเด็กโต๋ มันก็ทำให้ชีวิตเราเรียนรู้ ผ่านจุดที่เปลี่ยนชีวิตขึ้นมานิดนึง พอลงไปทำ ปักษ์ใต้บ้านเรา สิ่งแวดล้อมภาคใต้ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง มันก็ทำให้เราเรียนรู้ชีวิต”
“การทำหนังสารคดีต่างจากการทำหนังอื่น ๆ ตรงที่ว่าหนังเรื่องอื่น ๆ เราต้องคิดพร็อตเอง เขียนสคริปเอง แล้วกำหนดทุกอย่างให้เป็นตามที่เราคิด แต่การทำหนังสารคดีคือเราไหลไปตามชีวิตจริง ยิ่งถ้าเราเลือกที่จะทำแต่ซับเจ็คดี ๆ เชื่อสิเราจะได้เรียนรู้จากพวกเขาด้วย และเราจะได้พัฒนาตัวเอง เข้าใจชีวิตมากขึ้น”
“โดยเฉพาะการทำสารคดีเรื่อง ปักษ์ใต้บ้านเรา ทำให้รู้จักคนใต้ พอไปรู้จักคนใต้ก็พบว่า คนใต้น่ารักดีแฮะ จากเมื่อก่อนเคยมองว่าคนใต้ หรือคนมุสลิมดุ ไม่กล้าเข้าใกล้ หรือเจอคนใต้แล้วไมเอาอะ หน้าโหดจังเลย แต่พอได้ไปเจอจริง ๆ แล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงข้างใน ว่าเฮ้ย !! มันไม่ใช่แล้วหละ เพราะจากการที่เราได้ไปเจอ ไปสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขา เราได้เจอแต่คนน่ารัก ๆ มากขึ้น ได้ลงไปใช้ชีวิตกับชาวมุสลิม คนขับรถที่พาไปที่ต่าง ๆ ก็เป็นมุสลิม แล้วมุสลิมจริง ๆ แล้วไม่ดื่มเหล้า ตรงเวลา และรับผิดชอบงาน มันทำให้พี่เปลี่ยนมุมมองจากคนมุสลิมไปเลย ฉะนั้น ถ้าถามพี่ว่าคิดยังไง พี่ว่าคนเราจะดี จะชั่ว ไม่เกี่ยวว่าจะศาสนาอะไร มันเป็นเรื่องของกลุ่มคนหรือบุคคลนั้น ๆ มากกว่าอย่าไปเหมาว่า เป็นพุทธแล้วฉันต้องเป็นคนดี เธอเป็นมุสลิมแล้วเป็นคนไม่ดี เราว่าเราแบ่งไม่ได้ขนาดนั้น ”
สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ และสามารถที่จะนำแก่นแท้ของวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของคนในชนบทที่ทั้ง 2 ผู้กำกับนำเสนอ มาหล่อหลอม ให้คนในสังคมเมืองเกิดความรักสงบบ้าง
ซึ่ง ป๊อป อารียา บอกว่า “การดำเนินเรื่องอยู่ที่ คำว่า น้ำใจ ของคนต่างจังหวัด เพราะตอนนี้มันเป็นอะไรที่หายไปแล้ว เราได้รับ น้ำใจมาจากชาวบ้าน จากการที่เราไปถ่ายทำมา ประทับใจอาหารบ้าน ๆ จากชาวบ้านที่โดนสึนามิ ไม่เหลืออะไรแต่เขาก็ยังคงแบ่งปันของที่เขามีอยู่มาเผื่อแผ่เรา แล้วอาหารอร่อยมาก แล้วประสบการณ์ที่ได้มาอีกคือ เราได้ไปสวดมนต์กับชาวมุสลิม ไปเจอชีวิตของเขาเป็นอย่างไร เพราะภาพส่วนใหญ่ตอนนี้ที่ออกมาคือ มุสลิมดุร้าย แต่จริง ๆ แล้วคนที่ทำอะไรแย่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม หรือศาสนาไหนก็แล้วแต่ คนที่ทำเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่มีศาสนาแท้ ๆ นะ เพราะคนที่นับถือศาสนามุสลิมจริง ๆ เขาไปฆ่ากันอย่างนั้นหรอก”
นก นิสา เสริมว่า “คือตอนที่เราเด็ก ๆ เราอยู่ต่างจังหวัดตอนที่เราเด็ก ๆ เราจะโตมาแบบว่า แกงก็แบ่งกัน แล้วก็ชินกับคำว่า น้ำใจ แล้วพอเราอยู่ในเมืองมาก ๆ มันเหมือนกับว่าคำว่าน้ำใจมันติดปาก คนไทยมีน้ำใจ คนไทยมีน้ำใจ แต่ถามหน่อยวันนี้ ที่ทำออกมาเป็นน้ำใจมันคืออะไรบ้าง บางทีเราลืมนึก เราชินกับคำนี้จนเราลืมความหมายที่แท้จริงไป แต่พอเราลงไปที่ภาคใต้ เราเห็นว่าเขามีการช่วยเหลือกัน เพราะภาคใต้มันมีทั้งภัยพิบัติ มีทั้งปัญหาต่าง ๆ มากมาย แล้วเขาอยู่กันยังไง เขาช่วยเหลือกันยังไง พอเราไปเจอเราก็เลยรู้สึกว่าเราคิดถึงตรงนี้เราก็เลยหยิบประเด็นนี้ขึ้นมา”
นอกจากนี้ทั้ง 2 ผู้กำกับสาว ยังเล่าถึงตัวตนของของกันและกัน ที่ทำให้เขาทั้งสองเลือกที่จะใช้ชีวิตในการทำงาน และร่วมกันสร้างสรรค์งานที่มีใจรักเหมือนกัน
ป๊อป อารียา เล่าถึงนก นิสา ให้ฟังว่า “คือมันเลือกที่จะใช้ มันแบบว่าแค่เห็นสายตา ก็เข้าใจแล้ว คือถ้าเปรียบกับการปรุงอาหาร รสชาติที่เราจะปรุง มันเหมือนแม่ครัว 2 แม่ครัวที่รู้ว่าเราอยากต้องการรสชาติแบบไหน รู้ว่าต้องการจะถ่ายทอดอะไรออกมา มันก็จะทำให้สิ่งที่ปรุงรสออกมารสชาติอร่อยตามแบบที่เราต้องการได้”
“แต่อย่างอื่นไม่เหมือนกันเลย วิธีการทำงานมีหลาย ๆ อย่างที่ตรงกันข้าม แต่มันเป็นหยินหยางที่เข้ากันได้ กลมกลืนกันได้ ประมาณว่าคนหนึ่งตึง คนหนึ่งหย่อน มันต้องมีตรงนี้ที่มันมาชดเชยกันได้ ชดเชยกันแบบ คนหนึ่งขับรถ คนหนึ่งดูทาง คนหนึ่งถนัดงานเทคนิค คนหนึ่งจินตนาการเก่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้เข้ากันลงล็อคพอดี”
“และนิสัยของนก อีกอย่างคือ เป็นคนที่จริงจังกับทุกอย่าง คำพูดต้องเป็นคำพูด ถ้าบอกว่าทำ คือ หมากัดไม่ปล่อย หรือถ้าเป็นทหารไปรบคือยอมตายก่อนที่จะกลับมาโดยที่ไม่ได้สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ นี่แหละคือ นก”
นก นิสา เสริมเพิ่มว่า “แต่สิ่งที่มันเป็นเป้าหมายสำคัญ คืออยู่ตรงที่ผลลัพธ์สุดท้าย ว่าถ้าบอกว่าอันนี้อร่อย มันก็ต้องอร่อยเหมือนกันมันต้องเป็นอร่อยแบบเดียวกัน ไม่ใช่ฉันว่ามันหวานแล้วมันอร่อย เธอบอกว่าเค็มแล้วมันอร่อย สุดท้ายไอ้ถ้วยนี้ หรือชามนี้ที่ปรุง มันต้องลดความอร่อย ความหมายของคำว่าอร่อย ให้เป็นอันเดียวกัน แต่ระหว่างทางนั้นมันก็จะมีการสับกันไปสับกันมา คนหนึ่งมีอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งมีอย่างหนึ่งเป็นอย่างนั้นมากกว่า”
“และนิสัยของป๊อป จะเป็นคนซน หมายถึง ชอบคิดโน่นคิดนี่ อยู่ตลอดเวลา มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิด คือเท่าที่คบกับนางสาวไทยคนนี้มา แทบไม่เคยเห็นมันเล็บยาว ไม่เคยเห็นต้องไปนั่งแต่งหน้า ทำผมให้สวยตลอดเวลา และตัวตนของป๊อปจริง ๆ เป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่เรื่องมาก ชอบตรงที่เขาเป็นเขาแบบนี้แหละ”
สิ่งที่ 2 ผู้กำกับต้องการถ่ายทอดให้รู้ ผ่านสารคดีที่พวกเขาตั้งใจทำนั้น ต้องการที่จะสะท้อนสังคม เพราะทุกวันนี้ในสังคม และสภาพแห่งความเป็นจริง คำว่าน้ำใจได้เหือดแห้งไปจากแม่น้ำสายใหญ่มากทีเดียว แล้วใครจะมาช่วยเติมเต็มความมีน้ำใจให้มีชีวิตชีวากลับคืนมาได้ ก็ต้องไม่พ้นมนุษย์อย่างเรา ๆ นี่แหละ ที่ต้องคอยช่วยเหลือกัน แบ่งปันน้ำใจให้กันบ้าง ถ้อยทีถ้อยอาศัยให้กันบ้าง แล้วสังคมเราจะมีแต่รอยยิ้ม