ก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชี จับมือหาแนวทางผลักดันให้ประเทศไทยใช้มาตรฐานการบัญชีสากล

ข่าวทั่วไป Friday January 21, 2005 09:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชีหารือแนวทางการยกระดับมาตรฐานการบัญชีไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ทุกประเทศทั่วโลกยอมรับ โดยจะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการนำมาตรฐานสากลมาใช้เป็นกรอบการบัญชีสำหรับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ขายแก่ประชาชน และจะหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนเพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ทางด้านการค้าและการประกอบธุรกิจ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ ทั้งสองหน่วยงานมีความเห็นร่วมกันว่า
ประเทศไทยสมควรใช้มาตรฐานการบัญชีสากล หรือ IFRS (International Financial Reporting Standards) เป็นกรอบการบัญชีสำหรับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ขายแก่ประชาชนซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลในงบการเงินของบริษัทไทยกับบริษัทในต่างประเทศได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ดี ถึงแม้กำหนดกรอบใหญ่ไว้เช่นนี้ก็ตาม ทั้งสองหน่วยงานเห็นว่า จำเป็นต้องมีการประกาศข้อยกเว้นในบางจุด เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและป้องกันผลกระทบที่ไม่เหมาะสมต่อบริษัทของไทย เช่น ในเรื่องความลับทางการค้า ก.ล.ต. จึงจะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนและร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดทำข้อยกเว้นจากมาตรฐานการบัญชีสากลดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีนายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส เป็นประธาน และจะมีผู้แทนจากสภาวิชาชีพบัญชี ผู้แทนจากสมาคมบริษัทจดทะเบียน ผู้แทนจากหน่วยงานของทางการ ผู้แทนจากสมาคมอื่น ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ”
ศาสตราจารย์ เกษรี ณรงค์เดช นายกสภาวิชาชีพบัญชี กล่าวว่า “การประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะใช้ IFRS เป็นกรอบการบัญชีสำหรับบริษัทในตลาดทุนในครั้งนี้ เป็นก้าวที่สำคัญของวิชาชีพบัญชีที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นสากล และจะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ไม่น่าจะมีอุปสรรคใด ๆ เนื่องจากมาตรฐานการบัญชีของไทยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอยู่แล้ว นอกจากนี้ การยกระดับมาตรฐานการบัญชีในครั้งนี้ จะยังคงคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ และความได้เปรียบเสียเปรียบในด้านการแข่งขันประกอบด้วย จึงเชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบในทางลบต่อภาคธุรกิจอย่างแน่นอน และที่สำคัญคือ มาตรการดังกล่าวจะใช้เฉพาะสำหรับบริษัทในตลาดทุนเท่านั้น จึงจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อผู้ประกอบการทั่วไปภายนอกตลาดทุน ”--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ