กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
นายนิมะนาเซ สามะอาลี นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา) ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ และ คุณภาพชีวิต ทางสมาคมจึงได้ประสานงานไปยังศูนย์วิจัยข้อมูลขององค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยียม พบข้อมูลว่าช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๔๗ นั้น มีประชาชนในพื้นที่ ๔ จังหวัดดังกล่าว ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบค่อนข้างสูง โดยเฉพาะปัญหาแม่และเด็ก การเสียชีวิตของแม่ และบุตรหลังคลอด ทั้งนี้สาเหตุเนื่องจากผู้เป็นแม่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลบุตรและตัวเองน้อย ประกอบกับ หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ การปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ยังไม่เต็มศักยภาพ
จากเหตุผลข้างต้นสมาคมจึงร่วมมือกับองค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยียม ได้จัดตั้ง หน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่เพื่อประชาชนในพื้นที่ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการจัดกิจกรรม ที่มีความหลากหลายและจะประยุกต์หลักคำสอนของศาสนาอิสลามเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตของประชาชน อีกทั้งจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานของภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่เพื่อประชาชน ที่สมาคมและองค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยียม จัดตั้งขึ้นจะทำให้ปัญหาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น
สำหรับการจัดตั้งหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่เพื่อประชาชน จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือนธันวาคม ๒๕๔๘ ไปจนถึงเดือนธันวาคม ปี ๒๕๔๙ ส่วนพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดที่เข้าไปดำเนินการใน ๔ จังหวัด ประกอบด้วย ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง ตำบลธารโต อำเภอธารโต ตำบลบุดี อำเภอเมือง ตำบลกอตอตือระ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ตำบลลุโบะยิไร อำเภอมายอ ตำบลระแว้ง ตำบลเมาะมาวี อำเภอ ยะรัง จังหวัดปัตตานี ตำบลเกาะสะท้อน ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และ ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ในส่วนของกิจกรรมที่สมาคมจะเข้าไปดำเนินการประกอบด้วย
๑. จัดอบรมแกนนำอาสาสมัครอนามัยชุมชนและผู้นำชุมชน พื้นที่ละ ๔ คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการชี้แจงให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ ลักษณะการทำงานในพื้นที่ การเตรียมพื้นที่และการออกหน่วย
๒. ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่พื้นที่ละ ๑ ครั้ง โดยจัดเป็นกิจกรรมให้ความรู้ ด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอนามัยแม่และเด็ก การบริการตรวจสุขภาพรักษาโรค
๓. การปฏิบัติงานของอาสาสมัครอนามัยชุมชนตลอดปี ซึ่งจะเป็นกิจกรรมของอาสาสมัครในการติดตามและกระตุ้นการดูแลอนามัยแม่และเด็ก เช่น การรณรงค์การฝากครรภ์และการติดตามการให้วัคซีนแก่เด็ก เป็นต้น
(ที่มา :http://www.prd.go.th/daynews/S_daynews.php?id=4359)--จบ--