TLO จับมือเอกชน ใช้สิทธิบัตร “ฟิล์มยืดอายุผัก ผลไม้” หนุนส่งออกไทย รับวิกฤตอาหารโลก

ข่าวทั่วไป Monday July 14, 2008 08:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
TLO จับมือเอกชน บ.อุตสาหกรรมถุงพลาสติคไทยฯ อนุญาตให้ใช้สิทธิใช้ประโยชน์เม็ดพลาสติกเข้มข้นเพื่อการผลิต “ฟิล์มยืดอายุผักผลไม้” เป็นรายที่ 3 ชี้สามารถลดต้นทุนขนส่ง ลดการสูญเสียผลผลิต แถมราคาถูกกว่าฟิล์มแบบเดิม ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดและหนุนส่งออกผลผลิตเกษตรไทยได้ถึงกว่า 21 ล้านบาทต่อปี รับวิกฤตอาหารโลก
ไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้ออกสู่ตลาดในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมส่งออกผักและผลไม้ คือ ความสามารถในการยืดอายุการเก็บรักษาของผักและผลไม้สั้น เกิดการสูญเสียผลผลิตก่อนถึงมือผู้บริโภค ความพยายามในการสร้างศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รองรับวิกฤตอาหารโลกและสร้างโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรให้ยั่งยืนจึงเกิดขึ้น
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (Technology Licensing Office: TLO) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามในสัญญา “อนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์เม็ดพลาสติกเข้มข้น เพื่อการผลิตและจำหน่ายถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิด Active ที่มีคุณสมบัติในการยืดอายุผักและผลไม้สด ในเชิงพาณิชย์ สำหรับการทดลองตลาด” ระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กับบริษัทอุตสาหกรรมถุงพลาสติคไทย จำกัด
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ประธานในพิธี กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยนั้นเป็นการแปลงเงินคือทุนวิจัยให้เป็นความรู้ นวัตกรรม กระบวนการใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งเมื่อได้ผลงานมาแล้ว TMC โดยสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (Technology Licensing Office: TLO) จะดำเนินงานคุ้มครองความเป็นเจ้าของในรูปทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกรณีนี้คือ สิทธิบัตร แต่ส่วนมากในประเทศไทยสิทธิบัตรเหล่านี้ มักไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเรียกว่า กลายเป็นงานวิจัยที่ถูกนำไปขึ้นหิ้ง
ซึ่งกระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธินี้จะเป็นการนำความรู้ไปแปลงเป็นเงิน เงินที่ได้กลับมาก็จะสามารถนำมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ได้ ทำให้เกิดการบริหารจัดการเทคโนโลยีอย่างครบวงจรและเกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
การถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับใช้บรรจุผักและผลไม้สด ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้มีคุณสมบัติพิเศษในการสร้างสภาวะที่เหมาะสมภายในถุง ทำให้สามารถยืดอายุและรักษาผลิตผลสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะขยายผลได้หลายทาง เช่น ในส่วนของภัตตาคารหรือห้างสรรพสินค้าที่จะลดความสูญเสียผลผลิตผักและผลไม้สดทั้งที่วางจำหน่ายและจัดเก็บ ด้านผู้ส่งออกผักและผลไม้ก็สามารถรักษาความสดของผลิตผลและจัดจำหน่ายผลผลิตได้นานขึ้น คงความสดได้ยาวนานขึ้น สร้างโอกาสทางการขยายตลาดของสินค้าเกษตรไทยได้เป็นอย่างดี
“สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยีได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติในการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปสู่เชิงพาณิชย์มาแล้วตั้งแต่ปลายปี 2549 จนปัจจุบันรวมจำนวน 3 บริษัท โดยคาดว่าจะสามารถทดแทนการนำเข้าถุงพลาสติกจากต่างประเทศ รวมทั้งลดการสูญเสียและส่งเสริมบรรจุผักสดส่งออกไปต่างประเทศได้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 21 ล้านบาท/ปี” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า ความสำเร็จของผลงานวิจัยดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยตรงและเห็นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง งานวิจัยนี้เป็นผลมาจากการทุ่มเททำงานเพื่อสร้างองค์ความรู้ ซึ่งต้องมีทั้งความเพียรพยายามและทำงานเป็นทีม การเป็นนักวิจัยจึงไม่ใช่เพียงแค่ประสบผลสำเร็จในงานวิจัยเท่านั้น แต่ต้องมองต่อไปว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างไร
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล หนึ่งในทีมวิจัยจาก MTEC กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการมองเห็นปัญหาด้านการสูญเสียของผักและผลไม้รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของไทย ทำให้ทีมวิจัยซึ่งมีความรู้ทางโพลีเมอร์พยายามนำความรู้เหล่านั้นมาลดข้อจำกัดของฟิล์มแบบเดิมๆ อาทิ การควบคุมบรรยากาศหรือแก๊สภายในบรรจุภัณฑ์โดยการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการทำงาน เพื่อให้สามารถทำนายว่าควรใช้ฟิล์มประเภทใดเพื่อเหมาะสมกับผลิตผลทางการเกษตร
โดยพยายามพัฒนาความรู้ คุณสมบัติการผ่านของออกซิเจนครอบคลุมผลิตผลที่หลากหลาย การทำงานวิจัยนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ความต้องการของผู้ใช้จริง โดยมีการทดสอบโดยตรงกับผลิตผลผักและผลไม้หลายชนิดเพื่อให้สามารถพัฒนาการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้มากกว่าเดิม เช่น ในผักคะน้าสามารถยืดอายุการเก็บได้จากหกวันเป็นประมาณหนึ่งเดือนทำให้สามารถส่งออกทางเรือแทนทางอากาศ และช่วยลดต้นทุนการส่งออกได้มากขึ้น สามารถลดการสูญเสียได้ 15-20% อีกทั้งฟิล์มที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวยังมีราคาถูกลง 3-7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการต้องนำเข้าฟิล์มแบบเดิมจากต่างประเทศ
ด้านผู้ประกอบการ นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติคไทย จำกัด กล่าวว่า จากการทำงานในอุตสาหกรรมถุงพลาสติกเป็นเวลา 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทเน้นการขยายผลิตภัณฑ์โดยเป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่อุตสาหกรรมพลาสติกไทยต้องเปลี่ยนแปลงจากการทำงานตามสั่งมาเป็นการทำงานวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปด้วย ทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดการพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จตรงกับความต้องการทั้งตลาดและผู้บริโภค สร้าง ขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามข้อมูลข่าวและภาพเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
02-270-1350-4 ต่อ 104, 086-612-0912 E-mail: prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ