กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--ตลท.
ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล MONEY & BANKING AWARDS 2008 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 เวลา 18.30 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายสันติ วิริยะรังสฤษฏ์ ประธานและบรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร เปิดเผยว่า วารสารการเงินธนาคาร จัดงานมอบรางวัลเกียรติยศ MONEY & BANKING AWARDS 2008 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อยกย่องผู้บริหารของสถาบันการเงิน สถาบันการเงิน และบริษัทจดทะเบียนที่มีผลงานยอดเยี่ยม ประกอบด้วย 4 สาขารางวัล ดังนี้
1.รางวัลนักการเงินแห่งปี 2550 (Financier of The Year 2007) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารของธนาคารและสถาบันการเงินที่มีผลงานดีเด่นใน 4 ด้านคือ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร และทำคุณประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ได้แก่ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
2.รางวัลธนาคารแห่งปี 2551 (Bank of The Year 2008) เป็นรางวัลที่มอบให้กับธนาคารพานิชย์ที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยมในรอบปี โดยพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินทั้งหมด 11 ด้าน ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในผลประกอบการและการบริหารจัดการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3.รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2551 (Best Retail Bank of The Year 2008) เป็นรางวัลที่มอบให้กับธนาคารและสถาบันการเงินที่ผู้เข้าชมงานมหกรรมการเงิน “Money Expo 2008” ตัดสินใจเลือกใช้บริการมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจสูงสุดในการได้รับบริการจากธนาคารและสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
4.รางวัลบริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2551 (Best Public Companies of The Year 2008) เป็นรางวัลที่มอบให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมในรอบปี โดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ด้านคือ ขนาดของบริษัท ผลประกอบการ และผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารการจัดการของบริษัทในภาพรวม ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
นายสันติกล่าวว่า รางวัลเกียรติยศ MONEY & BANKING AWARDS 2008 มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนความสำเร็จของผู้บริหารสถาบันการเงิน สถาบันการเงิน และบริษัทจดทะเบียนให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าวนอกจากจะเป็นการให้กำลังใจและเป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนภาคการเงินและภาคธุรกิจของไทยให้ก้าวหน้าไปสู่ความเข้มแข็ง มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ