กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สวทช.
ผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ระบุสิ่งที่มีลักษณะคล้ายฟอสซิลโบราณที่ชาวบ้านหนองกรดพบคือ ฟันกรามของช้างเอเชียปัจจุบัน เนื่องจากมีลักษณะเป็นแผ่นซ้อนกัน เผยฟันฟอสซิลช้างโบราณจะมีลักษะเป็นซี่
จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านหนองกรด ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ค้นพบสิ่งที่คาดว่าจะเป็นฟอสซิลโบราณอายุหลายร้อยมีรูปร่างคล้ายมือเท้าคนนั้น ดร. วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่ชาวบ้านพบคือส่วนของฟันกรามช้างปัจจุบัน ซึ่งลักษณะฟันกรามช้าง 1 ซี่จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นแผ่นฟันหลายแผ่นซ้อนกัน ดังนั้นแผ่นกระดูกที่พบมีรูปร่างคล้ายมือนั้นคือส่วนของแผ่นฟันย่อยที่หลุดออกมา ทั้งนี้เมื่อพิจารณารูปร่างของแผ่นฟันแล้วพบว่าเป็นช้างเอเชีย (Elephas maximus) เนื่องจากมีสันร่องเป็นรูปวงรีซ้อนกัน ขณะที่ช้างแอฟริกาจะมีแผ่นฟันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
นอกจากนี้ฟันของช้างยังใช้สามารถบอกอายุของช้างได้ โดยฟันของช้างจะประกอบด้วยฟัน 6 ชุด เป็นฟันน้ำนม 3 ชุด ฟันแท้ 3 ชุด ซึ่งฟันน้ำนมชุดแรกจะติดมากับลูกตั้งแต่เกิด ส่วนฟันชุดใหม่จะค่อยๆงอกมาจากด้านในแล้วดันชุดเก่าหลุดออกไป ซึ่งฟันชุดสุดท้ายจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 25 ปี และจะใช้จนเมื่อประมาณอายุ 70 ปี ดังนั้นฟันแท้ชุดที่ 3 จะมีขนาดใหญ่ เนื้อฟันมีความหนาแน่นมาก และแผ่นกระดูกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นฟันก็จะมีความแข็งแรงมาก ฉะนั้นการที่พบแผ่นฟันหลุดออกมาเป็นแผ่นย่อยๆนั้น บ่งชี้ว่าเป็นฟันของช้างวัยรุ่นที่ยังไม่โตเต็มวัย แผ่นฟันจึงยังเชื่อมต่อกันไม่ดีนัก อย่างไรก็ดีการค้นพบฟันกรามของช้างในลำคลองสาธารณะดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าช้างอาจจะลงมากินน้ำหรือเล่นน้ำแล้วตายอยู่ใกล้ตลิ่งทำให้ถูกดินฝังไว้ ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาก็พบกระดูกของช้างในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้งเช่นกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 หรือ 081-6256899 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482
e-mail : thaismc@nstda.or.th