กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กทช.
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. มีนโยบายให้การใช้เลขหมาย
โทรคมนาคม หรือ เลขหมายโทรศัพท์ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์บ้าน และเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือ ยังคงอยู่ที่เลข 9 หลัก เนื่องจากยังมีการสำรองไว้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ถ้ามีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมและกำกับดูแลให้มีการนำมาใช้อย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กรรมการ กทช. กล่าวว่า ปัจจุบันเลขหมายโทรคมนาคม หรือ เลขหมายโทรศัพท์ 9 หลัก มีปริมาณทั้งหมด 90 ล้านเลขหมาย ซึ่งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สมัยที่ยังเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้จัดสรรเป็นเลขหมายโทรศัพท์บ้าน 29 ล้าน เลขหมายโทรศัพท์มือถือ 58 ล้าน รวม 87 ล้าน ซึ่งยังคงเหลืออยู่อีก 3 ล้านเลขหมาย
ต่อมาเมื่อมีการทำสัญญาร่วมการงาน กับผู้ประกอบการหลายบริษัท เลขหมายโทรศัพท์ จำนวน 58 ล้าน มีการจัดสรรลดหลั่นกันไปตามสัญญาแต่ละฉบับ ส่วนมากมีการใช้เลขหมายโทรศัพท์ไม่ครบตามจำนวนที่ขอ แต่ผู้ขอต่างสงวนเลขหมายไว้เป็นเลขหมายสำรองอยู่ตามภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมี การใช้จริงเพียงประมาณ 27 ล้านเลขหมาย ส่วนโทรศัพท์บ้านที่ส่วนมากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ครอบครอง 29 ล้านเลขหมาย ใช้จริงไปเพียงประมาณ 8 ล้านเลขหมาย ที่เหลือได้สำรองไว้ตามชุมสายทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการ กทช. เพื่อให้เข้ามากำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กทช. มีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมอย่างเป็นธรรมและให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้เลขหมายโทรคมนาคม แต่การจัดสรรจะดำเนินการก็ต่อเมื่อ กทช. ได้จัดทำกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมแล้ว และได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งน่าจะออกให้ได้ประมาณเดือน กรกฎาคม ศกนี้ ฉนั้นถึงแม้ความต้องการเลขหมายโทรคมนาคมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการขยายตัวด้านธุรกิจ แต่จากปริมาณเลขหมายที่เหลือและจำนวนที่มีการสำรองไว้ จึงไม่น่ามีปัญหาด้านความขาดแคลนเลขหมาย
ส่วนเลขหมาย 3 หลัก 4 หลัก และ 5 หลัก ที่ใช้ในการแจ้งเหตุด่วน แจ้งสภาพการจราจร และการส่งข้อความ เอส.เอ็ม.เอส. กทช. จะกำกับดูแลให้มีการใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดเช่นกัน กทช. มีนโยบายในการกำกับดูแลและจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรด้าน
โทรคมนาคมให้มีการใช้อย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย รวมทั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวม--จบ--