กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ปภ.
จากปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่จึงหันมาติดตั้งระบบก๊าซในรถยนต์แทนการใช้น้ำมันมากขึ้น โดยเฉพาะการติดตั้งกับรถจักรยานยนต์ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย เนื่องจากรถจักรยานยนต์เป็นรถ 2 ล้อ มีโอกาสพลิกคว่ำหรือเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถยนต์ ประกอบกับการนำรถจักรยานยนต์ไปติดตั้งก๊าซ ถือเป็นการดัดแปลงสภาพรถ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนเจ้าของรถที่จะนำรถไปติดตั้งก๊าซ ควรปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ดังนี้
ก่อนการติดตั้งก๊าซ ควรนำรถไปตรวจสอบสภาพความปลอดภัย ศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดเกี่ยวกับความเหมาะสมในการติดตั้งอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจนำรถไปติดตั้งก๊าซ เลือกติดตั้งกับร้านหรือสถานบริการที่ได้มีการรับรองมาตรฐานจากกรมขนส่งทางบก โดยช่างที่มีความชำนาญควบคุมการติดตั้ง ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ถังก๊าซที่นำมาติดตั้งต้องได้มาตรฐาน โดยมีลักษณะ ดังนี้ ตัวถังเป็นรูปทรงแคปซูล มีเครื่องหมาย มอก. หมายเลขลำดับถัง วัสดุที่ใช้ น้ำหนักถัง ขนาดความจุ และวันเดือนปีที่ทดสอบถังกำกับอยู่ หลีกเลี่ยงการซื้ออุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาติดตั้งเองโดยเด็ดขาด เช่น หัวสูบ ชุดอุปกรณ์หัวปั้ม เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด ทั้งจากการติดตั้งที่ไม่ถูกต้องและการใช้อุปกรณ์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดการระเบิดได้ ตลอดจนควรเลือกใช้ถังบรรจุก๊าซที่มีสภาพใหม่ ไม่นำถังก๊าซเก่าที่ไม่ได้มาตรฐาน ถังก๊าซหุงต้มในครัวเรือน และอุปกรณ์หัวสูบผิดประเภทมาดัดแปลงเพื่อติดตั้งในรถโดยเด็ดขาด เพราะหากก๊าซเกิดรั่วไหลอาจทำให้เกิดการระเบิด และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หลังการติดตั้งก๊าซ เจ้าของรถต้องนำรถเข้ารับการตรวจและทดสอบความปลอดภัย จากผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกอย่างน้อยเดือนละครั้ง พร้อมทั้งนำรถและใบรับรองการตรวจแจ้งขอเปลี่ยนแปลงชนิดเชื้อเพลิงต่อกรมการขนส่งทางบกภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่ผ่านการตรวจและทดสอบชนิดเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นไป กรณีที่เจ้าของรถไม่ไปแจ้งเปลี่ยนชนิดการใช้เชื้อเพลิงต่อกรมการขนส่งทางบกถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ รถยนต์ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ปรับไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท อีกทั้ง ควรนำรถไปตรวจสอบการรั่วซึมและระบบข้อต่อก๊าซ และอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ กรณีเกิดอุบัติเหตุ ควรนำรถไปตรวจสอบสภาพรถทุกครั้ง เพื่อป้องกันอุปกรณ์ท่อติดตั้งก๊าซได้รับการกระทบกระเทือน ทำให้ก๊าซรั่วไหล ที่สำคัญ ในช่วงที่ขาดแคลนก๊าซ แอลพีจี ผู้ใช้รถควรปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแทน หลีกเลี่ยงการดัดแปลงอุปกรณ์เพื่อขนถ่ายก๊าซหุงต้มจากถังก๊าซในครัวเรือน ไปยังถังก๊าซในรถ เนื่องจากหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจเป็นต้นเหตุของการระเบิดและอัคคีภัยตามมาได้ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี ปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากได้กลิ่นก๊าซให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจเกิดการรั่วไหลของก๊าซให้หยุดรถเข้าข้างทาง และปิดวาว์ลท่อส่งก๊าซ รีบแจ้งช่างผู้ชำนาญเฉพาะด้านมาแก้ไขทันที กรณีที่เกิดการระเบิดและมีไฟลุกท่วมให้รีบจอดรถและหนีออกจากบริเวณดังกล่าวทันที เพราะอาจเกิดการระเบิดตามมาได้ ตลอดจนรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าระงับเหตุทันที
สุดท้ายนี้ แม้การติดตั้งระบบก๊าซจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่หากนำรถ ไปติดตั้งจากร้านหรือสถานบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้อุปกรณ์ผิดประเภทในการติดตั้ง ก็อาจก่อให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ ดังนั้น เจ้าของรถควรนำรถไปติดตั้งกับร้านที่มีใบอนุญาตหรือใบรับรองจากกรมการขนส่งทางบก และเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจาก มอก. ไม่ซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งเองโดยเด็ดขาด ตลอดจนหมั่นนำรถไปตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของก๊าซ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระเบิด หรือเพลิงไหม้รถได้