กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กรมประมง
กรมประมงคุมเข้มคุณภาพการเลี้ยง-การจัดการ เน้นสุขอนามัยดี-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ ชี้ปัจจุบันบ่อกุ้งได้มาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคแล้ว 20,000 ฟาร์มขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งคึกคักร่วมงาน สัมมนาสัญจร “เลี้ยงกุ้งอย่างไร เพื่อไปอียู”
ทันตแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย เปิดเผยว่า จากงานสัมมนาสัญจรที่สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทยร่วมกับ กรมประมง และสมาคมชมรมผู้เลี้ยงกุ้งต่างๆ จัดที่จังหวัดจันทบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นอย่างมาก ทำให้เชื่อมั่นว่า การผลิตกุ้งของไทยเพื่อส่งออกจะมีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น ตามแนวนโยบายอาหารปลอดภัย (Food Safety) และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) ทุกขั้นตอน ด้วยแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อป้อนตลาดสหภาพยุโรป (อียู.)
“ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางอียู ที่ได้พิจารณาคืนจีเอสพี ลดภาษีนำเข้ากุ้งให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น กระผมในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย อยากเรียนว่า จากการที่เราได้ลงพื้นที่ จัดสัมมนาสัญจร เลี้ยงกุ้งอย่างไรเพื่อไปอียู พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งให้ความสนใจ กระตือรือร้นที่จะผลิตกุ้งคุณภาพสูงยิ่งขึ้นผู้เลี้ยงขอให้ทางสหภาพยุโรป และตลาดโลกมั่นใจว่า จากการที่เราเลี้ยงกุ้งมายาวนาน เกือบ 20 ปี เรามีประสบการณ์การผลิตกุ้งยาวนานกว่าประเทศอื่น ที่สำคัญรู้ว่าตลาดต้องการอะไร จากอดีตที่ผ่านมาก็สามารถยืนยันได้ว่ากุ้งของเรามีคุณภาพในระดับเวิด์ลคลาส (World Class) ไม่ว่าในแง่ความสวย สดสะอาด และความปลอดภัย ที่สำคัญต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Traceability ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ดีกว่าประเทศคู่แข่ง คุณภาพกุ้งของไทยไม่น่าห่วง เรื่องการใช้ยา เราได้มีการพัฒนาการเลี้ยงจนไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยามานานแล้ว พร้อมที่จะส่งเข้าไปเปิดตลาดอียูอีกครั้ง
ทางด้านนายคณิต ไชยาคำ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมงเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การเลี้ยงกุ้งของไทยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมประมง ตั้งแต่การควบคุมการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ และการใช้ในประเทศ โรงเพาะฟักลูกกุ้งมีใบกำกับการจำหน่ายลูกพันธุ์กุ้ง (Fry Movement Document/FMD) บ่อเลี้ยงกุ้งมีใบกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ-กุ้งใหญ่ (Shrimp Movement Document/SMD) บ่อเลี้ยงกุ้งได้มาตรฐาน จี เอ พี (GAP/Good Aquaculture Practice) ซึ่งเป็นการผลิตกุ้งทะเลให้มีคุณภาพที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลมีสุขลักษณะที่ดี ป้องกันการใช้ยา และสารเคมี ไม่ให้มีสารตกค้างในเนื้อกุ้ง และมาตรฐานซีโอซี (COC/Code of Conduct) ซึ่งเป็นการจัดการระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนตลอดสายการผลิตจากฟาร์มถึงโรงงานแปรรูป เพื่อพัฒนาให้ได้กุ้งที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนห้องเย็นโรงงานแปรรูปกุ้ง ก็ได้มาตรฐานสากล GMP, HACCP, ISO14000, ISO 18000 ฯลฯ ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งขบวนการผลิต (Traceabillity) ไทยมีระบบการเลี้ยงการจัดการที่ดีมั่นใจได้ รวมถึงการจะมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร Q — Mark ในสินค้ากุ้งไทยด้วย
ปัจจุบัน ฟาร์มกุ้งที่ได้มาตรฐาน GAP มีประมาณ 20,000 ฟาร์ม ขณะที่ฟาร์มที่ได้มาตรฐาน COC มีประมาณกว่า 200 ฟาร์ม จากฟาร์มกุ้งทั่วประเทศที่มีจำนวนกว่า 30,000 ฟาร์ม
รายงานของยูโรสเต็ด (Eurostat) รายงานว่า ประเทศไทยเคยส่งกุ้งเข้าตลาดอียูได้สูงที่สุดในปี 2538 ปริมาณ 32,866 ตัน ขณะนั้นขนาดตลาดของอียู (นำเข้ากุ้งรวม) อยู่ที่ 420,549 ตัน แต่หลังจากถูกตัดสิทธิจีเอสพี ร้อยละ 50 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2540 เป็นต้นมา สินค้ากุ้งจากไทยที่ส่งไปอียูก็ลดลงอย่างมากตามลำดับ และเมื่ออียูตัดสิทธิสินค้ากุ้งไทยทั้งหมด ตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 ปริมาณกุ้งไทยเข้าไปอียูได้เพียง 18,099 ตัน 17,949 ตัน 14,659 ตัน 7,224 ตัน 5,181 ตัน และ 7,688 ตันในปี 2542, 2543 , 2544 , 2545 , 2546 และ 2547 ตามลำดับ สวนทางกับขนาดตลาดกุ้งของอียูที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทุกปี ล่าสุดปี 2546-2547 อยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน
ทันตแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม
โทร. 06-6865776--จบ--