กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ภาคประชาชนจังหวัดพังงาสรุปแผนความต้องการและแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินรัฐและป่าไม้ ดีเอสไอรับต่อเดินหน้า "พังงาโมเดล" ร่วมภาครัฐ-ประชาชนแก้ปัญหาจากพื้นที่
ไม่เพียงบทบาทการเป็นหน่วยงานปราบปราม สอบสวนคดีพิเศษเอาผู้กระทำผิด "บิ๊กบึ้ม"ที่อยู่เบื้องหลังคดีสำคัญ ๆ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีตามกฎหมาย อีกบทบาทที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการควบคู่กันไปคือการลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนทั้งจังหวัด โดยมีฐานข้อมูล ประเด็นปัญหา สถานการณ์ และความต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ที่มาจากการระดมความคิดเห็นและกลั่นกรองร่วมกันของคนทั้งจังหวัดจนออกมาเป็นแผนเพื่อการจัดการ ซึ่งกำลังเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมที่ จังหวัดพังงา
นายภิญโญ ทองชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันดีเอสไอพบข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้มีการบุกรุกและทำลายป่าอยู่ในหลายพื้นที่ในจังหวัดพังงา ทั้งในเรื่องการบุกรุกแหล่งท่องเที่ยว การบุกรุกที่ชั้นใน ที่ดินของรัฐ อย่าง ป่าสงวน กระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และการทำลายทรัพยากรต่อเนื่องอื่น ๆ ดีเอสไอจึงใช้ความพร้อมด้านบุคลากรทำงานร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่เป็นจังหวัดแรก และตั้งใจจะทำให้เป็นพื้นที่จังหวัดตัวอย่างในการทำงานร่วมกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไปได้
นายภิญโญ กล่าวว่า ดีเอสไอได้ดำเนินการกระบวนการทำงานร่วมกับภาคประชาชนจังหวัดพังงามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีการจัดเวทีรับฟังและระดมความคิดเห็นหลายครั้งจนได้ข้อสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันและสามารถนำมาสู่การดำเนินการแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ พบว่าปัญหาที่ชาวพังงาต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1)การพิสูจน์สิทธิ์ 2)การดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุก 3)การตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ 4) การจัดเตรียมข้อมูลและการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านตระหนัก ตื่นตัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน 5) จัดตั้งกองทุน เฝ้าระวัง การแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า
ทั้งนี้ สำหรับปัญหาการพิสูจน์สิทธิ์ ดีเอสไอจะได้ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอแนวทางและวิธีการพิสูจน์สิทธิ์ที่ทับกันระหว่างที่ดินของรัฐและที่ดินของประชาชน หากได้รับความเห็นชอบแล้วจะได้ดำเนินการจัดส่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ไปทำการพิสูจน์สิทธิ์และจัดทำหลักเขตที่ดินของรัฐที่แน่นอนและจะมีการติดตามความคืบหน้าทุกเดือน และแจ้งผ่านผู้นำชุมชนทราบด้วย ขณะเดียวกันภาคประชาชนเองก็มีการเตรียมข้อมูล การทำแผนที่ทำมือ มาประกอบเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์
ส่วนในเรื่อง 1) การดำเนินคดี เรื่องการบุกรุก การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ดีเอสไอได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องขณะนี้คดีต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบเกือบจะเสร็จสิ้นแล้ว 2) ส่วนกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึก การเฝ้าระวังการบุกรุกทำลายป่า
ดีเอสไอจะได้ทำงานร่วมกันกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยดีเอสไอทำหน้าที่ประสานให้เกิดเวทีประชุม หารือ จัดทำและดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดและติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินงานหลายเรื่องอาจต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งต้องมีการทำให้ชัดเจนให้ได้ ตั้งเป้าอยากทำให้สำเร็จในปี 2551 นี้ เพื่อที่ชาวบ้านจะได้เห็นผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และตระหนักเกิดร่วมมือร่วมใจในการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาการบุกรุกที่ดินและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ เมื่อนั้นความสมบูรณ์ของพื้นที่ในแบบที่ชาวบ้านต้องการก็จะกลับคืนมา
นายภิญโญ กล่าวว่า ดีเอสไอเชื่อมั่นว่ากระบวนการทำงานดังกล่าวจะสามารถควบคุม ป้องกัน หรือลดการทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ บนฐานข้อมูล และความจริง ที่มาจากการร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังของภาคประชาชนในพื้นที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และพื้นที่เป้าหมายต่อไปที่ดีเอสไอจะไปทำงานในลักษณะเดียวกับจังหวัดพังงา คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีลักษณะปัญหาในพื้นที่คล้ายคลึงกัน.
ประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113