กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
นักวิชาการนิด้า ชี้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%-0.50% ไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อพุ่ง เชื่อสิ้นปีมีสิทธิแตะ 10% พร้อมส่งสัญญาณเตือนกลุ่มอสังหาฯ เจอ 2 เด้ง ทั้งต้นทุนการเงินสูง และผู้บริโภคชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่กลุ่มสถาบันการเงินต้องเตรียมรับมือเอ็นพีแอลที่เพิ่มสูงขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ CFA, FRM ผู้อำนวยการ หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการลงทุน และการจัดการความเสี่ยง หรือ FIRM คณะบริหารธุรกิจ นิด้า (NIDA Business School) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% และคาดว่าจะปรับขึ้นในการประชุมเดือนสิงหาคมหรือเดือนตุลาคมอีก 0.25%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะไม่สามารถหยุดยั้งภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดเงินมีการซึมซับข่าวเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้การปรับดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะเป็นเพียงการชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงถึง 10% หรือเป็นตัวเลขสองหลัก จนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้
ผู้อำนวยการหลักสูตร FIRM กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่า การเลือกแนวทางปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในครั้งนี้ ยังต้องชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบในเรื่องของเงินเฟ้อกับ การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง จะส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
“หากมีการปรับดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกรกฎาคมนี้ เชื่อว่าจะยังไม่ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจบริการมากนัก แต่หากมีการปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมหรือตุลาคม ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้ ต้องจับตาดูกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กำพลกล่าว
ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบในเรื่องของต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อนำมาลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ขณะที่ผู้บริโภคจะชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้การเปิดขายที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ๆ จะชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังต้องจับตาในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงิน ที่มีความเป็นไปได้ว่าหนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนจะมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเช่นกัน
“หากมองในมุมกลับกัน ถ้า กนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ก่อน ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า และเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ยังพอรับมือได้ เพราะหากมีการปรับดอกเบี้ยย่อมหนีไม่พ้นที่จะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่จะชะลอตัวลงไปอย่างแน่นอน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กำพลกล่าว
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ :
ศิริขวัญ ธรรมชัยพิเนต (หยิง PR)
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
โทร: 0-86321-7018 e-mail : c_mastermind@hotmail.com