ธนาคารทิสโก้เผยผลประกอบการครึ่งปี กำไรเพิ่ม 17.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 15, 2008 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ธนาคารทิสโก้
ธนาคารทิสโก้เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก เติบโตต่อเนื่อง กำไรสุทธิ 930.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% จากช่วงเดียวกันของปี 50 ครึ่งปีหลังรุกขยายฐานลูกค้ารายย่อย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่อเนื่องภายใต้คอนเซ็ปต์ “ลูกค้าทิสโก้ต้องได้รับผลประโยชน์สูงกว่า-ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า-ได้รับบริการรวดเร็วกว่า” พร้อมเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีก 10-20 แห่ง
นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลประกอบการของธนาคารทิสโก้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 (เม.ย.-มิ.ย. 51) ว่าธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 501.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2550 เนื่องจากมีหลายปัจจัยส่งเสริมการเติบโต ได้แก่ รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลเพิ่มขึ้น 22.1% ตามการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น 18.0% และการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 42.6% มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียม 25.3% ส่งผลให้ผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2551 มีกำไรสุทธิ 930.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136.75 ล้านบาท หรือ 17.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับรายละเอียดของผลการดำเนินงานด้านต่างๆ นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการอำนวยการ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2551 มีจำนวน 1,079.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 195.29 ล้านบาท หรือ 22.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง 199.48 ล้านบาท หรือ 20.0% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อ (loan spread) เพิ่มขึ้นจาก 3.3% เป็น 3.9% ซึ่งแสดงถึงความสามารถของธนาคารในการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารมีกลยุทธ์ในการขยายตัวในธุรกิจสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ในขณะที่ต้นทุนเงินทุนลดลงจากการขยายฐานเงินฝากลูกค้ารายย่อยผ่านการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากซึ่งหลากหลายตรงกับความต้องการของลูกค้า
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ปี 2551 มีจำนวน 729.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.6% จากไตรมาสเดียวกันในปี 2550 ซึ่งมาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 160.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.7%, กำไรจากเงินลงทุน 114.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210.9% และรายได้จากค่าธรรมเนียม 358.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.3% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรายได้จากธุรกิจประกันชีวิตธนกิจ ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจจัดการกองทุน
ปริมาณสินเชื่อในไตรมาส 2 ปี 2551 มีจำนวน 95,267.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,006.42 ล้านบาท หรือ 5.5% จากไตรมาสแรกของปี 2551 ซึ่งแบ่งออกเป็นสินเชื่อรายย่อย 72,861.01 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 71,063.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9%, สินเชื่อธุรกิจ 17,510.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% และสินเชื่ออื่นๆ 4,895.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% โดยสัดส่วนโครงสร้างสินเชื่อทั้งหมดแบ่งออกเป็น สินเชื่อรายย่อย 76.5%, สินเชื่อธุรกิจ 18.4% และสินเชื่ออื่นๆ 5.1%
ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่มีจำนวน 10,611.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,455.86 ล้านบาท หรือ 30.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เทียบกับยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศงวด 5 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 270,175 คัน หรือเพิ่มขึ้น 12.9% ส่งผลให้อัตราปริมาณการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของธนาคารต่อปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ใหม่เฉลี่ย (Penetration Rate) ใน 5 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 10.0% ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในปี 2550 ที่ 9.4%
สำหรับเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้นในไตรมาส 2 ปี 2551 มีจำนวน 85,172.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากสิ้นไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้นเท่ากับ 111.9% เพิ่มขึ้นจาก 107.6% ณ สิ้นไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อในไตรมาสนี้
นางอรนุชกล่าวต่อไปว่า สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีจำนวน 3,957.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% ซึ่งเป็นภาวะปกติตามการขยายตัวของสินเชื่อ โดยอัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 4.1% โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อรายย่อยเท่ากับ 2.5% และสัดส่วน NPL ของสินเชื่อธุรกิจเท่ากับ 7.6% ซึ่งทั้งหมดเป็น NPL ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยยอดสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวน 2,887.78 ล้านบาท คิดเป็น 73.0% ของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เท่ากับ 2,228.56 ล้านบาท ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงาน
อนึ่ง การดำรงเงินกองทุนของธนาคารตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการขยายตัวในอนาคต โดยฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 10.20% ทั้งนี้อัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวยังคงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำร้อยละ 8.50% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ด้านนายปลิว กล่าวถึงกลยุทธ์ของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลัง ว่ายังคงเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างความแตกต่างให้เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า โดย 1. ลูกค้าที่มาใช้บริการทิสโก้ต้องได้รับประโยชน์ที่สูงกว่า 2. ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า และ 3. ต้องได้รับบริการที่รวดเร็วกว่า ที่ผ่านมาธนาคารจึงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายควบคู่ไปกับการขยายช่องทางการให้บริการเพื่อให้เข้าถึงและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ทั้งรายย่อย รายกลางไปจนถึงลูกค้ารายใหญ่ “โปรดักท์ทุกตัวของเราต้องตอบโจทย์ 3 ข้อที่กล่าวมาเพื่อเป็นทางเลือกที่สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ต้องให้เงื่อนไขที่ลูกค้าถูกใจ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ออกผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายเกือบ 20 ตัวและได้รับการตอบรับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นบัญชีซุปเปอร์เซฟวิ่งส์, บัญชีเงินฝากประจำ 8 เดือน, 12 เดือน, บัญชีออโต้ เซฟวิ่งส์ เงินฝากออมทรัพย์พร้อมส่วนลดดอกเบี้ยเช่าซื้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์แบงก์แอสชัวรันส์ ได้แก่ TIP Savings บัญชีออมทรัพย์พ่วงความคุ้มครองและเพิ่มโบนัสอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
“สำหรับครึ่งปีหลัง เรามีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายสาขาเพิ่มอีกประมาณ 10-20 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากปัจจุบันที่มีอยู่ 29 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ออกมา ตอนนี้เรามีโปรดักท์ใหม่ที่รออยู่เรียบร้อยแล้ว และจะทยอยเปิดตัวในครึ่งปีหลังนี้ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สุภานี, กมลวรรณ ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
โทร. 02 633 6904-6

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ