ไอเอ็นจีเผยผลสำรวจภาวะการลงทุนไตรมาส 2 ไทยมีความเชื่อมั่นลดลง 38% เป็นผลจากนักลงทุนย้ายไปตลาดที่มั่นคงและปลอดภัยกว่า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 15, 2008 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
ด้วยความไม่แน่นอนของภาวะตลาด ทำให้นักลงทุนลดระดับความเชื่อมั่นในการลงทุน
จุดเด่นจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาสของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป
ไทยเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นในการลงทุนน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลงจาก 131 ในไตรมาส 1 มาอยู่ที่ 81 ในไตรมาส 2 ปี 2551
ตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์เชื่อว่า ภาวะการลงทุนในประเทศต่างๆ จะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง
อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง อาทิ ความกังวลว่าอาจจะมีการรัฐประหาร และราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงไทยปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนเพื่อให้มีความเสี่ยงน้อยลง
มีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในภูมิภาคเอเชียลดลง 13% จาก 125 ในไตรมาส 1 ปี 2551 มาอยู่ที่ 109 ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับภูมิภาค
ไอเอ็นจี กรุ๊ป สถาบันการเงินระดับโลก เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาส ซึ่งปรากฏว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับความเชื่อมั่นในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียที่ปรับลดลง โดยไทยมีดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลง 38% จาก 131 ในไตรมาส 1 ปี 2551 มาอยู่ที่ 81 ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับเกือบ “ต่ำ” สุด โดยนักลงทุนเอเชียมองว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ทำให้ตลาดไทยได้รับการพิจารณาว่ามีความอ่อนแอมากที่สุด
ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของภูมิภาคเอเชียก็มีการปรับลดลงเช่นกัน นำโดยประเทศจีน ตามด้วยประเทศใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิกลดลงไปอยู่ที่ระดับกลาง (neutral) เป็นครั้งแรก หลังจากเคยอยู่ในระดับดีมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำรายงานการสำรวจความเชื่อมั่นในการลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2550 เป็นต้นมา
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียโดยรวมมีการปรับลดลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยลดลงจาก 125
ในไตรมาส 1 ปี 2551 มาเป็น 109 ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ และสภาวะการเมืองในแต่ละประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของเอเชียเท่ากับ 141 ในไตรมาส 3 ปี 2550 และลดลงเป็น 135 ในไตรมาส 4 ปี 2550
การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) เป็นการสำรวจดัชนีการลงทุนประจำไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) เป็นรายแรก โดยเป็นการชี้วัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ทั้ง 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ส่วนดัชนีภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะรวมทุกตลาด ยกเว้น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พร้อมทั้งเสนอ ภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุน โดยสามารถใช้ดัชนีความเชื่อมั่นประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป ในการอ้างอิง
ดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในเอเชียในไตรมาส 2 ปี 2551
ผลการสำรวจภาวะการลงทุนของไอเอ็นจี กรุ๊ป พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในตลาดไทยลดลงในช่วงไตรมาส 2 ปี 2551 และได้รับการพิจารณาว่ามีแนวโน้มอยู่ในระดับเกือบ “ต่ำ” สุด โดยมีสาเหตุจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง แนวโน้มที่อาจจะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ค่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอันเป็นผลจากราคาสินค้าและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และภาวะซบเซาของตลาดหุ้นซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายลดลงถึง 12% ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 และวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนของไทยลดลงจาก 131 ในไตรมาส 1 ปี 2551 มาอยู่ที่ 81 ในไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน โดยมี 32% ของนักลงทุนไทยคาดว่า ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งมีนักลงทุนไทยถึง 60% ที่มั่นใจว่าตลาดหุ้นจะพื้นตัว
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า นักลงทุนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากฮ่องกงเชื่อว่า ภาวะการลงทุนในเอเชียโดยรวมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในไตรมาส 3 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในไตรมาส 3 นี้ เช่นเดียวกับนักลงทุนไทยที่มีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาใน ไตรมาส 3 แต่คาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยจะทรุดต่ำลงอีกเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
ผลสำรวจของนักลงทุนไทย :
นักลงทุนไทย 18% เชื่อว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 ขณะที่มีเพียง 12% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2551
นักลงทุนไทย 34% คาดว่า ผลตอบแทนการลงทุนจะสูงขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 ขณะที่ 29% เชื่อว่า ผลตอบแทน การลงทุนจะสูงขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2551
นักลงทุนไทย 29% เห็นว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 เทียบกับ 31% คิดว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2551
นักลงทุนไทย 49% เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 เทียบกับ 30% คาดว่า เศรษฐกิจในสหรัฐฯ จะฟื้นตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2551
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงมีรากฐานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม แต่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นบวกกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพี ลดลง และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา และด้วยสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมให้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติลดลงอย่างเด่นชัด ดังนั้น ความสามารถของรัฐบาลในการจัดการปัญหาเงินเฟ้อและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551
นักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) :
นักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 41% ชี้ว่า สภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2551 เทียบกับ 25% คิดว่า สภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2551
นักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 45% มองว่า ผลตอบแทนการลงทุนจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 เทียบกับ 30% คิดว่า ผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2551
นักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 46% กล่าวว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 เทียบกับ 35% คิดว่า สถานะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2551
นักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 34% คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 เทียบกับ 29% คิดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2551
นอกจากนี้ นักลงทุนไทยสัดส่วน 64% และนักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) จำนวน 71% คิดว่า วิกฤติสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุนของพวกเขาในไตรมาส 3 ปี 2551 ขณะที่นักลงทุนไทย 91% และนักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 81% คิดว่า ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของพวกเขาในไตรมาส 3 ปี 2551
ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในจีนลดลง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นด้านการลงทุน
จีนเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของไทย ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น นักลงทุนและผู้นำธุรกิจไทยจึงมีอิทธิพลต่อดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของจีน จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในจีนลดลงจาก 136 ในไตรมาส 1 ปี 2551 มาอยู่ที่ 117 ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยดัชนีได้ลดลงจากระดับดีเป็นระดับปานกลางเป็นครั้งแรกแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปักกิ่งเร็วๆ นี้ ซึ่งดัชนีการลงทุนที่ลดลงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนจีนได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและความกดดันต่างๆ ในตลาด ดังนี้
นักลงทุนจีน 46% เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ปี 2551 จะตกต่ำ เทียบกับเมื่อไตรมาส 1 ที่มีเพียง 41% ที่คิดว่า เศรษฐกิจจีนจะทรุดต่ำลงในไตรมาส 1 ปี 2551
นักลงทุนจีน 56% คิดว่า ผลตอบแทนการลงทุนในไตรมาส 2 ปี 2551 จะลดลง เทียบกับการสำรวจเมื่อไตรมาส 1 ที่มีเพียง 45% ที่เชื่อว่า ผลตอบแทนการลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2551 จะประสบภาวะตกต่ำ
นักลงทุนจีน 35% เห็นว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลของพวกเขาในไตรมาส 2 ปี 2551 จะลดลง เทียบกับการสำรวจเมื่อไตรมาส 1 ที่มีเพียง 15% ที่คิดว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลของเขาจะตกต่ำในไตรมาส 1 ปี 2551
ข้อมูลยังชี้ว่า นักลงทุนชาวจีน 87% เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะดีขึ้นจากการที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และ 41% คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงหลังการเข่งขันโอลิมปิกสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2551 เช่นเดียวกับฮ่องกงซึ่งเป็น เจ้าภาพร่วมการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยนักลงทุน 76% ใน ฮ่องกงเชื่อว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มดีขึ้นจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และ 49% คิดว่า เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงหลังจบการแข่งขันดังกล่าว
สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ผลการสำรวจของไอเอ็นจี พบว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มีดัชนีความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุด อันเป็นผลจากสภาวะตลาดของแต่ละประเทศ สถานการณ์ทางการเมือง และแรงกดดันจากภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลก โดยไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนลดลงมากที่สุด ขณะที่อินเดียลดลงเพียงเล็กน้อย
ภาวะเงินเฟ้อคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นข้อวิตกของนักลงทุนไทย
ผลการสำรวจของไอเอ็นจี กรุ๊ป พบว่า นักลงทุนชาวไทย 71% เชื่อมั่นว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 ขณะที่ 86% เชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาส 3
โดยนักลงทุนไทยจะใช้วิธีการลงทุนในหุ้นเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ โดยการปรับพอร์ตการลงทุนของตน และเลือกใช้เครื่องมือที่ได้รับความนิยมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การลงทุนในหุ้น (71%) การฝากเงินกับธนาคาร (24%) และ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ (18%) เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 61% คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อยังคงพุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2551 และ 81% เชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาสต่อมา
ผลสำรวจยังแสดงข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนในไทยดังนี้
นักลงทุนไทย 35% มีการลงทุนในหุ้น IPO หรือหุ้นของบริษัทที่จะเสนอขายครั้งแรกให้ประชาชนทั่วไป ในไตรมาส 2 ปี 2551 และ 28% คาดว่าจะลงทุนในหุ้น IPO ในไตรมาส 3 ปี 2551
นักลงทุนไทย 30% ระบุว่า เตรียมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของโลก อาทิ น้ำมัน ก๊าซ โลหะ และน้ำ ในไตรมาส 3 ปี 2551
“ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ค่าครองชีพที่ดีดตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสินค้าอาหารที่มีราคาแพงขึ้น ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของลงทุนลดสู่ระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่องในหลายไตรมาสที่ผ่านมา นักลงทุนเกือบ 50% ประกาศลดการลงทุนเพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่มีราคาพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ค่าครองชีพจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีความเป็นไปได้นี้ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้ามีการปรับราคาสินค้าขึ้น และพนักงานต้องการเงินเดือนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม จาก ผลสำรวจ นักลงทุนไทยยังมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอาจจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสหน้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย” นายมาริษ กล่าวในตอนท้าย
ดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนใน 13 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
การจัดอันดับประจำไตรมาส 2 ปี 2551 ประเทศ ดัชนีไตรมาส 2 ดัชนีไตรมาส 1 ดัชนีไตรมาส 4 ดัชนีไตรมาส 3
ปี 2551 ปี2551 ปี 2550 ปี 2550
1 อินเดีย 163 168 167 168
2 ฮ่องกง 123 107 148 141
3 จีน 117 136 132 164
4 ฟิลิปปินส์ 110 121 153 148
5 ไต้หวัน 109 105 83 134
6 อินโดนีเซีย 108 131 136 133
7 ออสเตรเลีย 105 89 131 125
8 นิวซีแลนด์ 98 90 118 114
9 สิงคโปร์ 90 88 136 141
10 เกาหลี 87 96 113 137
11 มาเลเซีย 82 128 124 148
12 ไทย 81 131 134 129
13 ญี่ปุ่น 73 60 71 89
สำหรับข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของไอเอ็นจี กรุ๊ป สามารถดาวน์โหลดได้ที่
http://www.ing.asia/investor_dashboard
ข้อมูลเพิ่มเติม
การสำรวจของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด มีขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นประจำทุกไตรมาส โดยในแต่ละตลาดที่ทำการสำรวจจะแบ่งเกณฑ์ค่าดัชนีไปตั้งแต่ 0 (ต่ำที่สุด) จนถึง 200 (ดีที่สุด)
การสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจประจำไตรมาสรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในเขตภูมิภาคดังกล่าว (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยได้นำดัชนีความเชื่อมั่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาปรับเป็นส่วนหนึ่งของ การสำรวจในแต่ละไตรมาสด้วยดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวมาจากค่ากลางของฐานใน 10 ตลาดใน ภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย (ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
ไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด ถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกภายหลังความสำเร็จของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ บาโรมิเตอร์ในยุโรป ซึ่งตีพิมพ์เป็นประจำในประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเพื่อประเมินความเชื่อมั่นของนักลงทุน รายย่อย และนับเป็นตัวชี้วัดความคิดเห็นของนักลงทุนรายย่อยที่น่าเชื่อถือ ที่นักลงทุนรายสำคัญในแวดวงการเงินในยุโรป ให้การติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับการสำรวจไตรมาส 3 ปี 2550 ไตรมาส 4 ปี 2550 และไตรมาส 1 ปี 2551 ทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2550 เดือนธันวาคม ปี 2550 และเดือนมีนาคม 2551 ตามลำดับ สำหรับการสำรวจประจำไตรมาส 2 ปี 2551 ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2551 โดยการสัมภาษณ์โดยตรงและออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนรายใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,313 คน กลุ่มตัวอย่างมีอายุ 30 ปีหรือสูงกว่า มีสินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่า ยกเว้น อินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 56,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่านั้น) และ ฟิลิปปินส์ (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือรายได้ต่อเดือน 250,000 เปโซหรือมากกว่านั้น) โดยผลสำรวจจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระ ทีเอ็นเอส (TNS)
เกี่ยวกับไอเอ็นจี กรุ๊ป
ไอเอ็นจี เป็นสถาบันการเงินระดับโลกสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่บริการจัดการด้านการธนาคาร กรมธรรม์ และสินทรัพย์ ให้แก่ลูกค้ารายบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนกว่า 85 ล้านรายในกว่า 50 ประเทศ ด้วยบุคลากรที่หลากหลายราว 130,000 คนและกลุ่มบริษัทที่โดดเด่นในเครือทำให้ไอเอ็นจีสามารถให้บริการลูกค้าภายใต้แบรนด์ไอเอ็นจีได้ครอบคลุมมากขึ้น
เกี่ยวกับทีเอ็นเอส
ทีเอ็นเอส เป็นบริษัทผู้ให้บริการงานวิจัยและการวิเคราะห์ที่มีแบบแผนชั้นยอดของโลก จากผสมผสานกับความเข้าใจเบื้องลึกในอุตสาหกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการซื้อขายแบบเจาะลึก การจัดการผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าใหม่ แบรนด์ และการสื่อสาร ทั้งนี้ ทีเอ็นเอสเป็นคู่ค้าที่สามารถสนองความต้องการของลูกค้า โดยสามารถจัดสรรข้อมูลชั้นเยี่ยม การวิเคราะห์และการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าผ่านเครือข่ายกว่า 70 ประเทศ
ติดต่อสอบถาม
จุมพล สายมาลา
บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 02-688-7780 หงสินันท์ / สาธิดา
อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
โทร. 02-252-9871

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ