ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “ธนาคารทิสโก้” ที่ “A” และเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Stable”

ข่าวทั่วไป Friday December 9, 2005 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของธนาคาร (TSCO077A, TSCO077B, TSCO07OA) คงเดิมที่ระดับ “A” ในขณะดียวกันได้เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Positive” หรือ “บวก” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหาร ระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อ และการกระจายตัวไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงประโยชน์จากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จะทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีขึ้น และมีโอกาสในระยะยาวสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของธนาคารถูกจำกัดบางส่วนจากความไม่แน่นอนของปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาวะของธุรกิจหลักทรัพย์ ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อสำหรับธุรกิจทั่วไปและสินเชื่อรายย่อย
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งในระยะปานกลางเนื่องจากการเป็นธนาคารพาณิชย์จะส่งผลดีในแง่ของการดำเนินธุรกิจที่มีขอบเขตกว้างขึ้น และการมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีขึ้น โดยที่ระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ผลการดำเนินงานในอดีตที่เป็นที่ยอมรับ และความพอเพียงของระดับเงินกองทุนของธนาคารจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารทิสโก้มีขนาดของสินทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 12 ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจการเงินกว่า 30 ปีทำให้ธนาคารสามารถสร้างคณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้ธนาคารสามารถดำรงอยู่ได้ในธุรกิจที่มีระดับการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว การมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีและการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ยาวนานจะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารในอนาคตได้
ผู้บริหารของธนาคารมีนโยบายที่ชัดเจนในการมุ่งเน้นธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลและการกระจายตัวไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ตั้งแต่ปี 2545 ธนาคารได้รวมศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจและระบบการบริหารของกลุ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการควบคุมธุรกิจและประสิทธิภาพด้านต้นทุนของกลุ่มโดยรวม การยกระดับสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนทางการเงินของธนาคารในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยนองค์กร แต่จะสร้างโอกาสในระยะยาวแก่ธนาคารในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ