กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็น “A+” จาก “A” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน (TMB153A) ของธนาคารเป็น “A” จาก “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงประโยชน์ในอนาคตที่จะได้จากพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ของธนาคารคือ ING Bank N.V. (ING Bank) โดยผู้บริหารของ ING Bank มีอำนาจในการบริหารธนาคารและกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างเต็มที่ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมสถานภาพทางการเงินและการดำเนินงานของธนาคารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังจะได้รับประโยชน์จากความชำนาญของ ING Bank ในด้านระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย การประกันภัย และบริการด้านบริหารสินทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของธนาคารในอนาคต อีกทั้งการที่ธนาคารมีปัญหาหนี้เสียสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคารนั้นก็คาดว่าจะสามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสมควรด้วยการขายหนี้เสียเหล่านั้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ธนาคารขายหนี้เสียไปประมาณ 4.4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 5.7% ของหนี้เสียทั้งหมดของธนาคาร และล่าสุดธนาคารได้มีการเพิ่มทุนจำนวน 37.62 พันล้านบาทในเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งทำให้ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับค่อนข้างสูง ณ ปัจจุบัน ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งอาจจำกัดการขยายตัวทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนฐานะทางการเงิน และสภาพคล่องให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะปานกลาง นอกจากนี้ การมี ING Bank เป็นพันธมิตรน่าจะเอื้อประโยชน์ให้ธนาคารสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งมีรายได้ที่แน่นอนในอนาคต อย่างไรก็ตาม การบรรลุผลสำเร็จในการส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันของกลุ่มธนาคารทหารไทยและความกลมกลืนในกระบวนการทำงานในทุกระดับของธนาคารยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ โดยธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อที่ 8.8% และเงินฝากที่ 7.9% ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 คือกลุ่ม ING Bank ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 30.1% และกระทรวงการคลังซึ่งถือ 26.1% ของหุ้นทั้งหมด ธนาคารมีผลขาดทุนอย่างมากในปี 2550 คิดเป็นจำนวน 43.67 พันล้านบาทเนื่องจากมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนมากถึง 30.1 พันล้านบาทเพื่อรองรับมาตรฐานการตั้งสำรองสากล หรือ IAS39 และมีการตั้งขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และค่าความนิยมตัดบัญชีซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการของธนาคารทั้ง 3 แห่งในปี 2547เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 12.61 พันล้านบาท ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 16.1% เพิ่มขึ้นจาก 15.1% ณ สิ้นปี 2549 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่งซึ่งอยู่ที่ 8.8% ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 0.98 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 1.2 เท่าเมื่อสิ้นปี 2550 ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.0 เท่า
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าผู้บริหารในตำแหน่งที่สำคัญของธนาคารซึ่งได้แก่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความเสี่ยง (CRO) และประธานกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ (Head of Retail Banking) ได้รับการแต่งตั้งโดย ING Bank ส่วนกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ได้รับการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบร่วมกันของกระทรวงการคลัง และ ING Bank การที่ธนาคารทหารไทยมีสาขาที่กว้างขวางและมีตราสัญลักษณ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง รวมทั้งนโยบายที่จะได้ประโยชน์จากความชำนาญของ ING Bank ในธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย การประกันภัย และการบริหารสินทรัพย์จะผลักดันให้ธนาคารสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยและเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย การพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงและการปรับพอร์ตสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพสินเชื่อเป็นภารกิจในลำดับต้นๆ ของธนาคารซึ่งในที่สุดอาจส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารปรับลดลงในปี 2551 ในปี 2550 ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งหลังจากประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนทั้งหมด 37.62 พันล้านบาท ซึ่ง 20.9 พันล้านบาทมาจาก ING Bank และที่เหลือมาจากผู้ถือหุ้นรายอื่นและนักลงทุน เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 10.43% ณ สิ้นปี 2550 เป็น 14.35% ณ สิ้นปี 2551 ความสำเร็จในการเพิ่มทุนช่วยทำให้ฐานเงินทุนขยายตัวเพื่อรองรับหนี้เสียที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคตและช่วยสนับสนุนแผนการแก้ปัญหาหนี้เสียของธนาคารให้สำเร็จเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพหนี้และการทำกำไรจากธุรกิจสินเชื่อยังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศด้วย