กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กบข.
กบข.ประเมินสถานการณ์ตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก ยังคงเผชิญความเสี่ยงหลังราคาน้ำมันและเงินเฟ้อปรับตัวสูง ฉุดผลตอบแทนการลงทุน ระบุในช่วงที่ผ่านมามีการปรับพอร์ตและชะลอการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ลดระยะการถือครองพันธบัตร ผลักดันผลตอบแทนรับดอกเบี้ยขาขึ้น
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงทุนในตลาดเงิน และตลาดทุนทั่วโลกในปีนี้ ว่าความเสี่ยงจากปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้เกิดปัญหาด้านอัตราเงินเฟ้อตามมา ดังนั้น จึงส่งผลให้ภาวะดัชนีตลาดทุนทั่วโลกและตลาดทุนไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ตลาดทุนไทยปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ15-20 ขณะที่ตลาดทุนในจีนและเวียดนามปรับตัวลดลงในสัดส่วนกว่าร้อยละ 40-60 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวม
“ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆทั่วโลกในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสูงหรือไม่ก็ตาม อาทิ จีนเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 8.7 อินเดีย 11.63 ขณะที่ประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปถึงร้อยละ 8.9 ส่งผลให้หลายฝ่ายจำเป็นต้องมีการปรับตัว และระมัดระวังในการลงทุน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินและตลาดทุน”
นายวิสิฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคณะกรรมการลงทุนได้มีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเพื่อป้องกันผลกระทบการบันทึกบัญชีตามมูลค่าตลาด (Mark to Market) กบข.ได้มีการลดระยะเวลาในการถือครองตราสารหนี้ระยะยาว หันมาถือครองพันธบัตรอายุประมาณ 1-2 ปี ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และจะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนในตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการลงทุนได้มีการติดตาม ประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดทุน โดยรอให้มีการคาดการณ์สถานการณ์ตลาดและราคาน้ำมัน ก่อนเพิ่มน้ำหนักลงทุน เพื่อผลักดันให้ผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมของ กบข. เป็นไปตามเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวแก่สมาชิกได้
ยุวพร นนท์ภาษโสภณ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข.)
Government Pension Fund
Tel. 02-636-1000 Ext.263 , 01-612-2322
Fax. 02-636-1691