ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมิถุนายน 2551 ทรงตัว ส.อ.ท. วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ—พลังงาน สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 16, 2008 11:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ส.อ.ท.
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมิถุนายน 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 841 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 73.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 71.4 โดยได้รับผลดีจาก ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก เช่น การเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์จากการที่ผู้บริโภคลดการซื้อรถยนต์คันใหม่ แล้วหันมาซ่อมแซมรถคันเก่าและติดตั้งก๊าซมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสมุนไพรที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและใช้ในการรักษามากขึ้น ส่วนการเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกทำให้ยอดคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงส่งผลต่อเนื่องให้ผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นตาม ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการประกอบการยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 76.9 ในเดือนพฤษภาคม เป็นระดับ 77.0 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นใจในยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิต ที่จะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัว ขณะที่ราคาขายก็ยังคงไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ทันตามต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน
นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในด้านการขยายการลงทุนและการขยายกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อัตราการใช้กำลังการผลิตปัจจุบันเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นที่จะกระทบต่อต้นทุนการประกอบการของกิจการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกิจการ SMEs
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก สำหรับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงในจำนวนกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน และมีการผันแปรไปตามลักษณะของอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยปัจจัยด้านต้นทุนการประกอบการยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่กดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอยู่
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการพบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อมกับอุตสาหกรรมขนาดกลางปรับเพิ่มขึ้น ได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญส่งผลต่อเนื่องให้ผลประกอบการปรับดีขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดัชนีปรับลดลงเล็กน้อย ซึ่งได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัว (อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกสูง) และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะมีการชะลอตัวมีมากขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามภูมิภาคพบว่า ผู้ประกอบการในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีจากตลาดในประเทศที่ยังคงมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในเดือนปัจจุบันเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับลดลง ได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเป็นสำคัญ และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคใต้ปรับลดลงซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้นและสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกพบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดส่งออกมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศ (คำสั่งซื้อต่างประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว) ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในระดับทรงตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเน้นตลาดในประเทศ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศโดยรวมที่ดีขึ้น
สภาวะแวดล้อมในการประกอบกิจการส่วนใหญ่ยังส่งผลกระทบต่อกิจการ ไม่ว่าจะเป็นด้านอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น และผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ มีเพียงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและส่งผลดีต่อการส่งออก
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เร่งแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน และหามาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการสนับสนุนพลังงานทดแทนแก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ อย่าให้สูงเกินไปอันจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศให้มีเสถียรภาพ และเร่งแก้ไขปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1295-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ