กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนมิถุนายน 2551 และในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — มิถุนายน 2551)
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือนมิถุนายน 2551 รัฐบาลเกินดุลเงินสดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 97,395 ล้านบาท จากที่ขาดดุลอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังสูงจากการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของนิติบุคคลรอบสิ้นปีบัญชี 2550 และส่งผลให้การขาดดุลเงินสดของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 ลดลงจากสิ้นเดือนที่แล้ว โดยขาดดุลทั้งสิ้น 105,804 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าการขาดดุลในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 44.2 โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 70,216 ล้านบาท และการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 35,588 ล้านบาท ทั้งนี้ การขาดดุลดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลของรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับร้อยละ 5.0 — 6.0 ในปี 2551 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ฐานะการคลังเดือนมิถุนายน 2551
1.1 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 273,314 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 13,408 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ นอกจากมีรายได้จากการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบสิ้นปีบัญชี 2550 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องแล้วการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจยังเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากได้รับรายได้ของค่าธรรมเนียมการให้บริการการสื่อสารเพื่อชดเชยภาษีสรรพสามิต ฯ ที่ค้างชำระในปีก่อนของบริษัททีโอที และบริษัท กสท ฯ
1.2 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 143,198 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 21,183 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.9 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของงบเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ตารางที่ 1 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2551
หน่วย: ล้านบาท
เดือนมิถุนายน เปรียบเทียบ
2551 2550 จำนวน ร้อยละ
1. รายจ่ายปีปัจจุบัน 137,088 158,603 -21,515 -13.6
1.1 รายจ่ายประจำ 107,295 126,403 -19,108 -15.1
1.2 รายจ่ายลงทุน 29,793 32,200 -2,407 -7.5
2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 6,110 5,778 332 5.7
3. รายจ่ายรวม (1+2) 143,198 164,381 -21,183 -12.9
ที่มา: กรมบัญชีกลาง
1.3 จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2551 เกินดุล 130,116 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณซึ่งขาดดุล 32,721 ล้านบาท (เป็นผลจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 28,000 ล้านบาท) ทำให้ดุลเงินสดเกินดุลจำนวน 97,395 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กู้เงินด้วยการออกพันธบัตรจำนวน 19,000 ล้านบาท เพื่อรักษาความต่อเนื่องของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้
ตารางที่ 2 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดเดือนมิถุนายน 2551
หน่วย: ล้านบาท
เดือนมิถุนายน เปรียบเทียบ
2551 2550 จำนวน ร้อยละ
1. รายได้ 273,314 259,906 13,408 5.2
2. รายจ่าย 143,198 164,381 -21,183 -12.9
3. ดุลเงินงบประมาณ 130,116 95,525 34,591 36.2
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ -32,721 -41,115 8,394 -20.4
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4) 97,395 54,410 42,985 79.0
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 19,000 - - -
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6) 116,395 54,410 61,985 113.9
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
2..ฐานะการคลังในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — มิถุนายน 2551)
2.1 รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,149,866 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 79,793 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และอากรขาเข้า เป็นต้น
2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,220,082 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 65,338 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบัน 1,134,057 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.5 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 68.3 ของวงเงินงบประมาณ (1,660,000 ล้านบาท) สูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ซึ่งมีอัตราการเบิกจ่ายร้อยล 68.0ของวงเงินงบประมาณ (1,566,200 ล้านบาท) และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 86,025 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.9
ตารางที่ 3 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551
หน่วย: ล้านบาท
9 เดือนแรก เปรียบเทียบ
ปีงบประมาณ 2551 ปีงบประมาณ 2550 จำนวน ร้อยละ
1. รายจ่ายปีปัจจุบัน 1,134,057 1,065,212 68,845 6.5
1.1 รายจ่ายประจำ 916,050 871,189 44,861 5.1
1.2 รายจ่ายลงทุน 218,007 194,023 23,984 12.4
2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 86,025 89,532 -3,507 -3.9
3. รายจ่ายรวม (1+2) 1,220,082 1,154,744 65,338 5.7
ที่มา: กรมบัญชีกลาง
2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ผลจากการนำส่งรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชีปี 2550 ที่เหลื่อมรับจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณเพียง 70,216 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 35,588 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดทั้งสิ้น 105,804 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยการขาดดุลดังกล่าวโดยการออกพันธบัตรและตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 151,891 ล้านบาท (ตารางที่ 4)
อย่างไรก็ดีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2551 จะส่งผลให้การขาดดุลเงินงบประมาณทั้งปีใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ (165,000 ล้านบาท)
ตารางที่ 4 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2551
หน่วย: ล้านบาท
9 เดือนแรก เปรียบเทียบ
ปีงบประมาณ 2551 ปีงบประมาณ 2550 จำนวน ร้อยละ
1. รายได้ 1,149,866 1,070,073 79,793 7.5
2. รายจ่าย 1,220,082 1,154,744 65,338 5.7
3. ดุลเงินงบประมาณ -70,216 -84,671 14,455 -17.1
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ -35,588 -105,031 69,443 -66.1
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4) -105,804 -189,702 83,898 -44.2
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 151,891 143,660 8,231 5.7
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6) 46,087 -46,042 92,129 -200.1
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9021 ต่อ 3558 หรือ 3555