กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เป้าหมายสูงสุดของการสร้างบัณฑิตที่เต็มเปี่ยมด้วยความรู้ คือการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และสามารถนำความรู้ต่างๆที่ได้ร่ำเรียนไปสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม ทำงานตรงตามสายที่เรียน แต่จะดีกว่าหรือไม่หากนักศึกษาจะสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นๆ นอกจากการประกอบอาชีพตามปกติ เช่นเดียวกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นอกจากจะร่ำเรียนการสรรค์สร้างงานศิลป์เพื่อจะก้าวเป็นศิลปินในวันข้างหน้าแล้ว พวกเขาเหล่านี้ยังนำความรู้ด้านศิลปะที่มีมาเชื่อมโยงกับการบำบัดจิตใจ และการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเด็กด้อยโอกาสหลายๆ กลุ่ม
น.ส.ปรียาชนก เกตุสุวรรณ หรือ ข้าวตู นักศึกษาปริญญาโท คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าให้ฟังว่าเคยผ่านกิจกรรมอาสาสมัครสอนเด็กๆ และเยาวชนด้านงานศิลปะมาหลายครั้ง โดยจุดแรกเริ่มของการเชื่อมโยงความรู้ด้านศิลปะกับการทำประโยชน์เพื่อสังคมมาจากวิชาเรียนวิชาหนึ่งสมัยเรียนในระดับปริญญาตรี ซึ่งนักศึกษาต้องลงไปทำงานศิลปะในชุมชนและต้องสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนออกมา ข้าวตูได้เลือกทำงานกับเด็กๆ ในชุมชนแห่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ มากนัก โดยข้าวตูได้เข้าไปสอนศิลปะ และให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดความคิดผ่านทางการวาดภาพ แต่ในครั้งล่าสุดนี้ ความท้าทายของการทำงานอาสาสมัครมีมากขึ้น เพราะข้าวตูพร้อมทั้งเพื่อนๆ ได้ร่วมกันเป็นอาสาสมัครสอนเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้สามารถสร้างงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดความเป็นตัวตนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีออกมาได้ ในโครงการจุดร่วมฝัน
“โครงการจุดร่วมฝัน โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นหนึ่งในโครงการใจเขาใจเรา : ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน มีความพิเศษคือเป็นโครงการที่ต้องทำกิจกรรมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยที่ข้าวตูและเพื่อนๆ จะต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือน้องๆ เยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความเป็นตัวตนและความรู้สึกของน้องๆ ออกมา ได้สื่อสารมุมมองของผู้ติดเชื้อเอชไอวีสู่สาธารณะ ซึ่งจะช่วยทำให้สังคมให้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ในอนาคต
และเนื่องจากน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมยังไม่มีความรู้ด้านศิลปะมากนัก ข้าวตูจึงได้วางแนวคิดของการสร้างผลงานให้ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันมากที่สุด นั่นคือ เป็นงานศิลปะที่สื่อถึงปัจจัย 4 อันประกอบด้วย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย โดยสามารถสร้างสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ โดยที่ไม่ยืดติดอยู่กับการวาดภาพ 2 มิติเท่านั้น แต่จะเป็นการนำวัสดุต่างๆ มาออกแบบ จัดวางทั้งในลักษณะ 2 มิติ และ 3 มิติ เหมือนกับการทำงานประติมากรรม โดยตัวอย่างของกิจกรรมที่น้องๆ จะได้เข้าร่วม เช่น กิจกรรมเสื้อทำมือเพิ่มความอบอุ่น อาหารวิเศษ สมุนไพรผู้ช่วยเหลือ เป็นต้น
การที่น้องๆ ได้มีโอกาสคิดสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองถือเป็นการช่วยบำบัดจิตใจของน้องๆ ได้อีกทางหนึ่ง เพราะระหว่างการทำงานศิลปะพวกเขาจะได้หยุดคิดสิ่งต่างๆ ที่รบกวนจิตใจ และได้มีอิสระกับการใช้ความคิดเพื่อดึงความเป็นตัวตนของเขาออกมา รวมถึงบางกิจกรรมน้องๆ สามารถเป็นทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงาน และได้ส่งมอบผลงานให้กับคนอื่นๆ ที่เขารัก ทำให้น้องได้มีบทบาทของการเป็นผู้ให้ ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในฐานะการเป็นผู้ให้ ให้กับน้องๆ ได้ และจากการผลงานของน้องๆ ทำให้ข้าวตูได้เห็นมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวี คือ น้องๆ มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป เขามีความชอบหนังสือ ดารา นักร้อง สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่นเดียวกับคนปกติ” ข้าวตู กล่าว
การเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการจุดร่วมฝัน นอกจากการได้ทำให้น้องๆ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีโอกาสใช้ความรู้ด้านศิลปะที่เรียนมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้แล้ว ยังทำให้น้องๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งสังคมยังไม่เคยได้รับรู้และยังดูเหมือนเป็นสิ่งที่สังคมเข้าใจผิด นั่นคือการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่สามารถทำให้เราติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างง่ายดาย และเราสามารถอยู่ร่วมกับพวกเขาได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการแบ่งแยกกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
น้องเรไร พีรดา สินธุเดช บัณฑิตจากรั้วศิลปากร เป็นอีกหนึ่งในทีมงานอาสาสมัครโครงการจุดร่วมฝัน เรไรเล่าว่าครั้งแรกเพื่อนชวนให้มาทำกิจกรรมกับน้องๆ ที่ติดเชื้อเอชไอวี เราเองรู้สึกลังเลใจ แต่ก็คิดว่าเป็นการทำประโยชน์ ให้กับสังคม ได้ช่วยน้องๆ ให้สามารถพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะ จึงได้ตัดสินใจเข้ามาช่วย ในช่วงแรกเรายังไม่รู้ว่าจะควรวางตัวหรือปฏิบัติกับน้องๆ อย่างไร กังวลกับคำพูดที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจน้องๆ จึงไม่กล้าพูดคุยกับน้องๆ แต่ในทางกลับกันน้องๆ ทุกคนต่างมีความเป็นมิตร ร่าเริงสนุกสนาน และมีพลังในตัวเองไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไป ความรู้สึกเกร็งจึงหายไปจนคุ้นเคยและทำงานร่วมกับน้องๆ ได้
“เราทำงานร่วมกับน้องๆ อย่างปกติ แต่หลายครั้งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเราอาสาสมัครรู้สึกกังวลว่าจะติดเชื้อหรือไม่ เช่น กิจกรรมอาหารวิเศษ น้องๆ ต้องใช้มือปั้นลูกชุบ เมื่อเสร็จกิจกรรมก็มีน้องคนหนึ่งเอาลูกชุบมาให้เรากิน เราก็ต้องกิน แต่ก็เต็มไปด้วยความกังวลที่เก็บซ่อนไว้ หลังจากนั้นน้องคนนั้นก็เล่าให้ฟังว่าเขาเคยร่วมกิจกรรมทำขนมกับเราเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งเวลานั้นเราไม่รู้เลยว่าน้องเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตอนนั้นเรากินขนมของเขาโดยที่ไม่มีความรู้สึกกลัว และเราก็ไม่ได้ติดเชื้อจากเหตุการณ์นั้น ทำให้เราคิดได้ว่าสิ่งที่เรากลัวล้วนเกิดจากความเชื่อที่ผิด และอีกครั้งหนึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น้องถูกคัทเตอร์บาดมือจนเลือดออก แล้วเราก็ต้องพาน้องไปทำแผล เรายิ่งกังวลมากกว่าครั้งแรก แต่หลังจากนั้นเมื่อได้เข้ารับการอบรมเรื่องการติดต่อของเชื้อเอชไอวี ได้เรียนรู้การวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงของการติดเชื้อ ทำให้เราเกิดความเข้าใจและไม่กลัวอีกต่อไป” เรไร กล่าว
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของผู้ติดเชื้อกับคนทั่วไปแล้ว น้องๆ อาสาสมัครยังได้เรียนรู้ถึงพลังใจของผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำให้อาสาสมัครได้เปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อผู้ติดเชื้อ โดยนายมรุต มากขาว หรือ แป้ง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าเขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ มากมายจากการร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการนี้ เขาได้รับประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ทำงานช่วยเหลือสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี จากเดิมที่คิดว่าเด็กกลุ่มนี้จะต้องมีปมปัญหาชีวิต มีความท้อแท้ แต่เมื่อได้สัมผัสความคิดของเขาแล้วทำให้รู้ว่าน้องๆ เป็นวัยรุ่นที่มีกำลังกาย และกำลังใจล้นเปี่ยม ซึ่งการทำงานร่วมกับน้องๆ ทำให้ตัวเราเองรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้น้องๆ ได้ใช้เวลาว่างที่เขามีไปกับการทำงานศิลปะ พวกเขาร่าเริงและมีความตั้งใจในการทำงานเป็นอย่างดี
จากหนึ่งตัวอย่างของการมีจิตอาสาที่สามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่องโยงกับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และผู้ที่ต้องการโอกาส ทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสร้างความดี หากสังคมสามารถขยายวงของการเชื่อมโยงนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีความรู้เต็มเปี่ยมให้มีจิตอาสาเพื่อสังคมไทยได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและประเทศชาติจะไม่ใช่เพียงการพัฒนาประเทศจากความรู้ที่พวกเขามีเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาสังคม ให้เต็มไปด้วยความเอื้ออารี