TMC ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต “เครื่องหอม” เทียบชั้นระดับโลก เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 16, 2008 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--TMC
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนุน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหอม ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต หวังสร้างคุณค่า และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก ตอบรับกระแสธุรกิจสปาและเครื่องหอมที่มีมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านบาท ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมระบุ อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทยยังไปได้อีกไกล ด้วยความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่หลากหลายสำหรับการผลิตเครื่องหอมและน้ำมันหอมระเหยส่งออกไปแข่งขันกับต่างชาติ ลดการพึ่งพาการเข้าน้ำหอมและหันมาเพิ่มรายได้เข้าประเทศ
ผลิตภัณฑ์ “เครื่องหอม” ที่ใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร และเครื่องสำอาง รวมถึงในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปา ล้วนเป็นผลิตผลจากพืชสมุนไพรไทยทั้งสิ้น ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยแต่การผลิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทำเครื่องหอมหรือน้ำมันหอมระเหยแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้สารสกัดที่ได้ไม่คงทน เกิดการเปลี่ยนสภาพ บางชนิดไม่สามารถนำไปผสมกับส่วนอื่นๆ ได้ ส่งผลต่อกลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป ขณะที่กระแสความต้องการเครื่องหอมในตลาดโลกมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและยกระดับขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเครื่องหอมของไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าไปให้การสนับสนุนในการเพิ่มทักษะความรู้ และจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรมากมายหลายชนิด และมีการนำมาใช้ประโยชน์นานัปการสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การน้ำมันหอมระเหย ( Essential oil ) จากพืชสมุนไพร Aromatherapy และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น แต่ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่เรายังไม่ได้มีการศึกษา หากมีการสนับสนุนการศึกษาพืชสมุนไพรเพื่อนำมาสกัดสารที่เป็นประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้นก็จะสามารถนำไปทำเป็นยา และเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก
“ จากที่ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานและกระบวนการผลิตเครื่องหอมของ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย - จีน จำกัด ( Thai-China Flavours and Fragrances Industry Co.,Ltd : TCFF ) จะเห็นว่าเป็นบริษัทของไทยรายเดียวที่ได้ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องหอมแบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีทันสมัย สามารถพัฒนาการสกัดกลิ่นและน้ำมันหอมระเหยออกจากพืชสมุนไพรที่ได้จากวัตถุดิบในประเทศที่มีอยู่มากกว่า 400 ชนิด ออกมาได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ชนิด นับเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องหอมจากการวิจัยและพัฒนา ( R & D ) โดยที่ผ่านมาทางบริษัทได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งหากเครื่องหอมที่พัฒนาขึ้นเหล่านี้ได้รับความนิยมจากตลาดนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้นก็จะทำให้เกษตรกรไทยได้รับประโยชน์ สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศ จึงได้แนะนำให้บริษัทมีความมุ่งหมั่นที่จะหาพืชสมุนไพรอื่นๆ นำมาสกัดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป” รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้มอบหมายให้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ไปดำเนินการศึกษาหาวิธีการหรือแนวทางในการนำขมิ้นชันและหนองตายอยาก ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งมาสกัดสารที่มีคุณสมบัติที่ให้น้ำมันหอมระเหยที่มีความเข้มข้นสูง โดยเฉพาะขมิ้นชันที่มีการค้นพบว่าบางสายพันธุ์ของไทยมีคุณสมบัติที่ให้น้ำมันหอมระเหยที่มีความเข้มข้นสูงกว่าสายพันธุ์ของอินเดียที่เชื่อกันว่ามีคุณสมบัติที่เข้มข้นและดีที่สุด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง ซึ่งมีมูลค่าในตลาดค่อนข้างสูง
ส่วนสมุนไพรหนองตายอยากนั้นมีคุณสมบัติในการช่วยกำจัดเห็บวัว จะเป็นประโยชน์ต่อภาคปศุสัตว์ โดยนำเทคโนโลยีที่ได้มาถ่ายทอดให้กับเอกชนเพื่อนำไปใช้ผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรไทย และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้กินดีอยู่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรรอบๆ ตัว ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้าไทยในการส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า TCFF ถือเป็นบริษัทเอกชนที่น่าภาคภูมิใจในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนาเข้าไปสร้างมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย และเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของไทยที่กล้าดำเนินธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตเครื่องหอมเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และวัตถุดิบ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบเรื่องสมุนไพรที่มีความหลากหลาย สามารถนำมาใช้ในการสกัดน้ำมันหอมระเหยและเครื่องหอมได้มากมาย จากเดิมที่ไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องหอมราคาแพงจากต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยถึงปีละ 7,000 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เครื่องหอมอีกกว่า 9,000 ล้านบาท
สำหรับความช่วยเหลือและสนับสนุนจาก สวทช. ประกอบด้วย โครงการสนับุสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP ได้เข้าไปให้การสนับสนุนในการดำเนินการด้าน GMP , สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปให้คำปรึกษาเพิ่มทักษะความรู้ในการพัฒนาบุคลากรด้านน้ำหอมพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำหอมให้กับบริษัทฯตั้งแต่ปี 2540 นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ CD เพื่อผลิตวัตถุดิบกึ่งธรรมชาติซึ่งได้จากการสกัดสารหอมจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ( Essential Oils ) และเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตสารเคมีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง
ปัจจุบัน TCFF สามารถขยายไลน์การผลิตเพิ่มขึ้นจากกระบวนการผลิตเดิมที่เคยใช้อยู่เป็น 3 วิธีด้วยกัน คือ การสกัดวัตถุหอมธรรมชาติด้วยตัวทำละลาย , การกลั่นวัตถุหมอธรรมชาติด้วยไอน้ำ และ การผลิตวัตถุหอมด้วยการสังเคราะห์ ซึ่งจากกระบวนการผลิตดังกล่าว สามารถผลิตผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย ( Essentail Oils ) , สารสกัดสมุนไพรไทย ( Thai Herbal Extracts ) , ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ( Flavours) , ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ( Fragrances) และ ผลิตภัณฑ์อโรมาเทอราพี ( Alomatharapy Products)
ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมเหล่านี้ จะถูกนำไปแปรรูปหรือใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายกว่า 3,000 รายการในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เครื่องสำอาง ยา อาหารเสริม และ ผลิตภัณฑ์สปา ช่วยในการเพิ่มกลิ่นหอมและเพิ่มมูลค่าจากธรรมชาติ ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีความเด่นชัดและน่าใช้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัท TCFF มีกำลังการผลิตถึง 250 ตันต่อปี และมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 27 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณ ดวงใจ เอื้อพาพรกุล
โทร. 081-421-8133 , 02-270-1350-4 ต่อ 115
E-mail: pr_itap2003@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ