กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ก.ล.ต.
ที่ประชุมคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ พอใจผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ด้านบรรษัทภิบาล (CG-ROSCs) ของตลาดทุนไทย ที่ประเมินโดยธนาคารโลก สรุปผลอยู่ในระดับดี ไม่มีข้อที่
สอบไม่ผ่าน โดยทำได้ตามมาตรฐานแล้วถึงเกือบ 70% พร้อมประกาศเดินหน้าพัฒนา บรรษัทภิบาลไทยให้รุด
หน้ายิ่งขึ้น เตรียมผลักดันมาตรฐานการบัญชีไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลภายในปี 2549 รวมทั้งจัด
สัมมนาชี้แจงผลการประเมินแก่บุคลากรและองค์กรในแวดวงตลาดทุน
วันนี้ (7 กันยายน 2548) คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ที่มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็น
ประธาน ได้จัดการประชุมครั้งที่ 1/2548 ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้
ได้แก่ การรายงานผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาลของตลาดทุน
ไทย หรือ CG-ROSCs ซึ่งประเมินโดยธนาคารโลก
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. ในฐานะ
กรรมการ
ในคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ เปิดเผยถึงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่า “เป็นเรื่อง
น่ายินดีที่ผลการประเมินบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยออกมาในระดับดีอย่างน่าพอใจ โดยภาพรวมพูดได้ว่า CG
ไทยสอบผ่านไม่น้อยหน้าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคะแนนส่วนใหญ่ที่ไทยได้รับถือว่าทำได้ตามมาตรฐาน
สากลแล้วถึงเกือบ 70% นอกจากนี้ สิ่งที่ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าตลาดทุนไทยมีบรรษัทภิบาลที่ดี ก็คือ ผลการ
ประเมินชี้ว่าไทยไม่มีข้อใดที่ตกเกณฑ์มาตรฐานเลย ทั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายเพื่อ
ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในช่วงที่ผ่านมา”
“อย่างไรก็ตาม กระบวนการเสริมสร้างและพัฒนาตลาดทุนไทยให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดีคงไม่
หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ แต่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องต่อไป เพื่อยกระดับบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยให้ก้าวหน้า
ทัดเทียมกับตลาดทุนชั้นนำในระดับภูมิภาคและในระดับสากล โดยหลังจากนี้ จะศึกษารายละเอียด รวมทั้ง
คำแนะนำในประเด็นต่าง ๆ ที่ธนาคารโลกระบุไว้ในรายงานการประเมิน เพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไขใน
จุดที่เรายังอ่อนอยู่ สำหรับจุดที่เราทำได้ดีอยู่แล้วก็จะพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อช่วยให้กระบวนการยกระดับ
บรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้”
นายธีระชัย กล่าวต่อไปว่า “สำหรับคะแนน CG ไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีนั้น ถือเป็นสิ่งตอบแทนที่
คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการทำงานหนักของทุกฝ่าย ผลการประเมินดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น
ให้กับผู้ลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมักจะให้น้ำหนักกับเรื่องบรรษัทภิบาลเป็นปัจจัยสำคัญ
ในการเลือกลงทุนในประเทศต่าง ๆ และตลาดทุนไทยขณะนี้จัดได้ว่าน่าสนใจลงทุนมาก เนื่องจาก PE ratio
(อัตราส่วนราคาหุ้นต่อผลตอบแทน) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดทุนอื่นที่พัฒนาในระดับใกล้เคียง
กันในภูมิภาคเอเชีย”
นายธีระชัย กล่าวว่า “ในส่วนของ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการประเมินโครงการ
CG-ROSCs นอกจากการสานต่องานในส่วนที่ทำต่อเนื่องมาอยู่แล้ว ยังจะนำนโยบายรวมทั้งแผนปฏิบัติ
งานที่ได้รับมติจากการประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งจะต้อง
อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาวิชาชีพบัญชี ในการผลักดันให้ปรับปรุงมาตรฐานการ
บัญชีไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากลภายในปี 2549”
“ก.ล.ต. จะนำเรื่องนี้ไปขยายผลต่อ ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการ
ชี้แจงทำความเข้าใจแก่บุคลากรและองค์กรในแวดวงตลาดทุน เพื่อให้รับทราบผลการประเมินในครั้งนี้ รวม
ถึงแผนปฏิบัติงานที่จะพัฒนาบรรษัทภิบาลไทยต่อไป โดยจะชี้แจงผ่านการสัมมนา ซึ่งจะจัดขึ้นในโอกาส
ต่อไป” นายธีระชัย กล่าวสรุป
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น
ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับบรรษัทภิบาลในตลาดทุน และเพื่อให้การส่งเสริมบรรษัทภิบาลมีพัฒนาการ
ที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติขึ้น โดยมี
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและ เอกชน อาทิ
กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สภาวิชาชีพบัญชี สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียน ฯลฯ เป็นต้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ฝ่ายงานเลขาธิการ : 0-2695-9503-5 e-mail : info@sec.or.th
เอกสารแนบ
1. โครงการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทย หรือ
CG-ROSCs (Corporate Governance — Report on the Observance of Standards and Codes)
ใช้แนวการประเมินตามหลักการ (Principles) ของ OECD (Organization for Economic
Cooperation and Development — องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) 6 หมวด ซึ่งจะ
พิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
(1) นโยบายด้านบรรษัทภิบาล (Ensuring the Basis for an Effective Corporate
Governance Framework)
(2) สิทธิของผู้ถือหุ้น (The Rights of Shareholders and Key Ownership Functions)
(3) การปฏิบัติของผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม (Equitable Treatment of Shareholders)
(4) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท (Role of Stakeholders in Corporate Governance)
(5) การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure and Transparency)
(6) บทบาทและความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท (Responsibilities of the Board)
ในส่วนของประเทศไทยสมัครเข้ารับการประเมินในโครงการ CG-ROSCs ตั้งแต่ปี 2547 และ ได้
รับรายงานผลการประเมินอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมา
2. ระดับการให้คะแนนของธนาคารโลก สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
2.1 กลุ่มที่ถือว่าได้ทำตามมาตรฐานสากลแล้ว ได้แก่ คะแนนระดับ O (Observed) และ LO (Largely Observed)
O หมายถึง มีหลักเกณฑ์ตรงกับสากล และปฏิบัติตามครบถ้วน
LO หมายถึง มีหลักเกณฑ์ตรงกับสากล การปฏิบัติขาดเพียงเรื่องเล็กน้อย
2.2 กลุ่มที่ควรมีมาตรการเพื่อปรับปรุง/ยกระดับ ได้แก่ คะแนนระดับ PO (Partially
Observed)
PO หมายถึง มีหลักเกณฑ์ตรงกับสากล การปฏิบัติบางเรื่องยังไม่จริงจัง
2.3 กลุ่มที่คะแนนไม่ผ่าน/ต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก่ คะแนนระดับ MNO (Materially
Not Observed) และ NO (Not Observed)
MNO หมายถึง หลักเกณฑ์ยังไม่ตรงกับสากล หรือตรงแต่ไม่เชื่อว่าจะปฏิบัติได้
NO หมายถึง ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
3. ตารางเปรียบเทียบผลการประเมิน CG-ROSCs ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นในเอเชีย
จำนวนข้อ (%) ไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์
- กลุ่มที่ถือว่าได้ทำตามมาตรฐานสากลแล้ว
O-Observed - 17 - 44 17
LO-Largely Observed 69 43 9 26 26
Subtotal O & LO 69 60 9 70 43
- กลุ่มที่ควรมีมาตรการเพื่อปรับปรุง/ยกระดับ
PO-Partially Observed 31 40 78 26 -
- กลุ่มที่คะแนนไม่ผ่าน/ต่ำกว่ามาตรฐาน
MNO-Materially not Observed - - 13 4 53
NO-Not Observed - - - - 4
Total 100 100 100 100 100
หมายเหตุ เปรียบเทียบเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เข้าร่วมโครงการ CG-ROSCs
ในช่วงปี 2544-2547--จบ--