กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--ดีเอสไอ
ผืนป่าที่ลดลง ทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอ รวมทั้งการเข้ายึดครองกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ ผ่านคนไทยบางส่วนที่ยอมเป็นนอมินีทั้งจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การปราบปรามของหน่วยงานรับผิดชอบที่มีทั้งการการติดตาม จับ ยึด ปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหายังไม่ลดลง การบุกรุกที่ดินรัฐและทำลายป่าจึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะกรณีใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ที่มักโยงใยเป็นเครือข่ายการทำผิดกฎหมายอีกหลายรูปแบบ ทั้งการฟอกเงิน ขบวนการค้าไม้ ค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อุปสรรคสำคัญคือเรื่องการพิสูจน์สิทธิครอบครองที่มีความซับซ้อนทั้งในแง่กฎหมาย ที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ และรูปคดีที่มีผู้ถือครองที่ดินผลัดเปลี่ยนไปหลายมือจนยากต่อการติดตาม ซึ่งบทบาทนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่จะใช้ความคล่องตัวในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเจาะลึก ให้ถึงตัวผู้กระทำผิดตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังมาลงโทษ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องการพิสูจน์สิทธิครอบครอง จำเป็นอย่างยิ่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน นอกจากนี้ดีเอสไอในฐานะคณะอนุกรรมการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินรัฐและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ได้เดินหน้าสร้างความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติด้วยการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามบุกรุกที่ดินและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางในการสืบสวนสอบสวน เสริมสร้างความร่วมมือในบุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการปราบปรามการบุกรุกและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ร่วมกัน
ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งของการสัมมนามีการอภิปรายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมที่ดิน
โดยสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้เน้นในเรื่องของการพิสูจน์สิทธิ์โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้มาใช้ ซึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่นำมาใช้คือเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งมี 3 แบบคือ การใช้อาร์เอส รีโมทเซนท์ซิ่ง คือ ข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียม จีไอเอส คือ การจัดการฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ และจีพีเอส คือ การหาตำแหน่ง และในอนาคตเมื่อมีการส่งดาวเทียมจีออสขึ้นโคจร ก็สามารถนำภาพมาดูความเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องมือที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
ดร.สุรชัย รัตนเสริมพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า สามารถประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งรายละเอียดสูงเทียบเท่าภาพถ่ายทางอากาศมาใช้ประโยชน์ในการปราบปรามการบุกรุกและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นข้อมูลในการทำงาน เช่น ติดตามพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ก่อสร้าง ทำเป็นภาพจำลอง ดูการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ใช้ดูพื้นที่ป่าไม้ ติดตามไฟป่าในช่วงหน้าแล้ง ดูการบุกรุกป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้ง ดูการปลูกสร้างสวนป่า ดูพื้นที่ไร่เลื่อนลอย การใช้ประโยชน์ที่ดิน ใช้ในการติดตามคดียาเสพติด ดูพื้นที่ปลูกฝิ่น
ด้านกรมที่ดิน โดยนายสุรพล ศรีวิโรจน์ นักวิชาการที่ดิน 8ว ได้ให้แนวทางการพิสูจน์สิทธิและการเพิกถอนเอกสารที่ดินว่ามีหนังสือแสดงกรรมสิทธิมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่าเป็นที่ดินทำประโยชน์แล้ว โฉนดที่ดินหรือโฉนดใบจองที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีการกำหนดแบบหลักเกณฑ์ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2497 ส่วนที่ดินที่ห้ามออกโฉนดคือ 1) ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่นทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ชายตลิ่ง 2) ที่ภูเขา เขตสงวนหวงห้ามหรือที่รัฐสงวนไว้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สำหรับที่ภูเขานั้นหากถามว่า ออกโฉนดได้ไหมหรือไม่ ก็เป็นปัญหาที่จะต้องตีความเป็นกรณีไป จะพิจารณาว่าออกได้หรือไม่ได้นั้นต้องพิจารณาหลายด้าน และจะออกเอกสารสิทธิได้หรือไม่ก็ต้องดูเงื่อนไขก่อนถ้าเขาครอบครองมาก่อนเขาก็มีสิทธิถึงแม้จะเป็นที่ภูเขา
นายสุรพล กล่าวว่า ในขั้นตอนการทำงานของกรมที่ดินนั้น หากมีคนร้องเรียนเข้ามาว่า มีที่ดินผิดกฎหมาย กรมที่ดินจะมีหนังสือไปยังจังหวัดขอให้ตรวจสอบว่า ที่ดินดังกล่าวมีการออกเอกสารสิทธิทับที่สาธารณะประโยชน์จริงหรือไม่เพื่อให้จังหวัดสอบสวนต่อ แล้วส่งเรื่องมากรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และตามกฎหมายกรมที่ดินต้องดำเนินการภายใน 15 วัน เป็นมาตรฐานในการออกหนังสือซึ่งผู้ออกหนังสือแสดงสิทธิ ต้องยึดถือตามประมวลกฎหมายที่ดินกำหนด และตนคิดว่าถ้าตราบใดที่กฎหมายยังมีการให้ดุลพินิจในการตัดสินใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกเอกสารที่ดินอยู่ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาการออกโฉนดทับที่ของรัฐได้ รวมทั้งปัญหาผู้มีอิทธิพลที่คุกคามการทำงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นน่าจะมีการกำหนดพิกัดให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนออกได้พื้นที่ไหนออกไม่ได้ เพื่อความสบายใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกเอกสารสิทธิด้วย
ขณะที่ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้กล่าวถึงการใช้กฎหมายฟอกเงินกับคดีความผิดในการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในส่วนที่ ปปง.รับผิดชอบ มีองค์กรอิสระ 3 หน่วยงาน ที่ทำงานร่วมกันคือคณะกรรมการ ปปง. กรรมการธุรกรรม และสำนักงาน ปปง. การป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน คือ เอาเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการยึดครองที่มีการแปรสภาพ อย่างในกรณีลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เมื่อได้มาซึ่งที่ดินจากการทุจริต พอได้มาก็ขายกันเป็นทอดๆไปต่อเรื่อยๆก็ต้องสืบหาที่มาของเงินแต่ละทอดนั้นเป็นอย่างไร
“การได้มาซึ่งเงินในการกระทำความผิด ถือว่าเป็นทรัพย์สินในการกระทำความผิด หมายถึงทรัพย์สินที่ไว้ในการก่อการร้าย โดยสรุปแล้วการดำเนินคดีอาญาในความผิดตามกฎหมายฟอกเงินมี 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นความผิดมูลฐาน ต่อมาเรื่องคดีอาญากับผู้ที่ฟอกเงินสนับสนุนให้การช่วยเหลือ และการดำเนินคดีกับสถาบันการเงิน หรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย” พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว
ด้านพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐและการทำลายทรัพยากรป่าไม้นั้นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เพื่อนำที่ดินและ ทรัพยากรของรัฐกลับคืนมา อย่างไรก็ตามในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะกำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่อง 10 จังหวัด อาทิเช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ และอยากให้จังหวัดในภาคอื่นๆ เสนอมาว่าที่ใดมีปัญหาการบุกรุกที่ดินอย่างรุนแรง เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุดและทันสถานการณ์ปัญหา