กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มคาดการณ์ว่าข้อมูลจะกลายเป็นสินทรัพย์ในงบดุลทางบัญชี และการธรรมาภิบาลทางข้อมูลจะกลายเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายสำหรับบริษัทต่างๆ ภายใน 4 ปีข้างหน้า
หน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูลของไอบีเอ็มหรือ IBM Data Governance Council คาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายด้านข้อมูลที่สำคัญ 5 ประการ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ และความสามารถในด้านการจัดการข้อมูลขององค์กรต่าง ๆ ในช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้า
เมื่อไม่นานมานี้ หน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูล หรือ Data Governance Council ได้มีการประชุมหารือร่วมกันในกลุ่มสมาชิกซึ่งต่างก็เป็นองค์กรระดับโลกทั้งสิ้น เกี่ยวกับวิธีการที่ธุรกิจจะจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีความซับซ้อน ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากองค์กรต่างๆ โดยในที่ประชุมได้มีข้อสรุปและการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มทางด้านข้อมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 5 ประการ ได้แก่
1. การธรรมาภิบาลทางข้อมูล (Data Governance) จะกลายเป็นระเบียบข้อบังคับสำหรับประเทศและองค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะในบางประเทศ องค์กรหลายแห่งจำเป็นต้องแสดงแนวทางการจัดการข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาลให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจกำกับดูแลได้รับทราบ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบตามปกติ แนวทางปฏิบัตินี้จะส่งผลต่อธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจะมีผลต่อธุรกิจอื่น ๆ ในโลกต่อไป
2. คุณค่าของข้อมูลจะถือเป็นสินทรัพย์ในงบดุลบัญชี และจะถูกรายงานโดยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ขณะที่คุณภาพของข้อมูลจะกลายเป็นมาตรวัดการจัดทำรายงานเชิงเทคนิค และดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพทางด้านไอที แนวทางการจัดทำบัญชีและการรายงานแบบใหม่จะเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจวัดและประเมินคุณค่าของข้อมูล เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ ได้ตระหนักว่าคุณภาพของข้อมูลจะมีส่วนส่งเสริมประสิทธิภาพของธุรกิจอย่างไร
3. การคำนวณความเสี่ยงจะแพร่หลายภายในบริษัทมากขึ้นสำหรับการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ และจะถูกพัฒนาจนกลายเป็นระบบอัตโนมัติด้วยการสนับสนุนจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัจจุบันในองค์กรส่วนใหญ่ การคำนวณความเสี่ยงถูกดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่ได้รับการคัดสรรมาจากกระบวนการภายในองค์กร แต่ในอนาคต การคำนวณความเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยการจัดการโดยระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและทำให้การตรวจสอบความเสี่ยงในอดีต การพยากรณ์ความเสี่ยงโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งการกำหนดเงินทุนสำรองสำหรับการรับประกันและการคุ้มครองความเสี่ยง สามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
4. บทบาทของประธานฝ่ายสารสนเทศ (Chief Information Officer - CIO) จะมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการรายงานคุณภาพของข้อมูลและความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ CIO จะมีอำนาจในการควบคุมการใช้ข้อมูลและรายงานเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลที่ส่งมอบให้แก่ผู้ถือหุ้นอีกด้วย
5. พนักงานแต่ละคนจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการรับรู้ปัญหาและมีส่วนร่วมในกระบวนการธรรมาภิบาลข้อมูลขององค์กร ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน และประเมินความเสี่ยง นอกจากนี้ พนักงานในองค์กรจะได้รับความช่วยเหลือผ่านทางโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะแสดงให้เห็นปัญหาในการจัดการข้อมูลทั่วไป ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถควบคุมดูแล สนับสนุน และช่วยลงมติที่เกี่ยวข้องกับนโยบายใหม่ๆ หรือสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่มีอยู่เดิม เพื่อจะได้บทบาทในการจัดการข้อมูลขององค์กรตามหลักธรรมาภิบาล
ปัจจุบัน องค์กรหลายแห่งให้ความสำคัญกับข้อมูลมากยิ่งขึ้น จนถือว่าข้อมูลเป็นเงินสกุลใหม่ในระบบ “เศรษฐกิจข้อมูล (Information Economy)” อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่ไม่ได้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากนัก ทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เหมาะสม มร. ริชาร์ด ไลฟ์สลีย์ หัวหน้าฝ่ายธรรมาภิบาลทางข้อมูลและคุณภาพข้อมูลของบีเอ็มโอ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (BMO Financial Group) กล่าวว่า “ไม่มีแนวทางหรือสูตรสำเร็จใดๆ ที่สามารถจัดการข้อมูลของทุกองค์กรได้แบบครอบจักรวาล ดังนั้น ทุกบริษัทจะต้องปรับแต่งระบบการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของตน ในขณะเดียวกัน ความพร้อมในการจัดการข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาลก็ยังมีด้วยกันหลายระดับและหลายแนวทางเพื่อให้สามารถบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ในอนาคตภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ แนวโน้มด้านการธรรมาภิบาลข้อมูลจะกลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญ เนื่องจากผู้บริหารขององค์กรต้องตระหนักในความรับผิดชอบทางด้านการพัฒนาและปกป้องข้อมูล ขณะเดียวกันตลาดก็จะต้องตรวจสอบประสิทธิภาพของธุรกิจโดยพิจารณาจากคุณค่าของข้อมูล และความเสี่ยงที่มีต่องบดุลอีกด้วย”
นอกจากนั้น หน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูล หรือ Data Governance Council ยังระบุอีกว่า นักลงทุนและผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ หากการจัดการข้อมูลกลายเป็นระเบียบ ข้อบังคับที่จำเป็นสำหรับองค์กร เพราะจะทำให้องค์กรมีความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสมากขึ้น แต่ความเสี่ยงลดลง ปัจจุบันการธรรมาภิบาลทางข้อมูลได้มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ โดยจะสร้างโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในช่วง 4 ปีข้างหน้า เพราะคุณภาพข้อมูลจะกลายเป็นดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพที่สำคัญสำหรับธุรกิจทั่วโลก
เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด หน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูลได้มีการวางแผนที่จะสร้างกรอบโครงสร้างสำหรับธรรมาภิบาลทางด้านสารสนเทศ (Information Governance Framework) โดยอ้างอิงรูปแบบความสมบูรณ์ของธรรมาภิบาลทางข้อมูล (Data Governance Maturity Model) ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นตัวกำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม กรอบโครงสร้างใหม่นี้จะใช้เป็นแนวทางสำหรับองค์กรต่างๆ ในการจัดการข้อมูลในระดับที่เล็กที่สุด ตามบทบาท ภารกิจ กิจกรรม และชุดกระบวนการจัดการข้อมูลที่กำหนดไว้ เพื่อทำให้การจัดการข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาลได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ การดำเนินการธรรมาภิบาลทางข้อมูลจะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถจัดการการใช้และเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญได้อย่างเหมาะสม เช่น ข้อมูลของลูกค้า รายละเอียดทางการเงิน และข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างในการจัดเก็บ (Unstructured Content) โดยจะมีการตรวจสอบและรายงานคุณภาพข้อมูลและความเสี่ยง เพื่อส่งเสริมคุณค่าและลดความเสี่ยง การทำงานของไอบีเอ็มในเรื่องนี้จะสนับสนุนและส่งเสริมกลยุทธ์ Information on Demand ที่บริษัทฯ ได้ประกาศริเริ่มเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้ไอบีเอ็มมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้ไอบีเอ็มได้ใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้อกิจการ และนำเสนอซอฟต์แวร์ในด้านนี้เป็นรายแรกอีกด้วย
มร. สตีฟ แอดเลอร์ ประธานของหน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูล กล่าวว่า “ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ เข้าใจดีว่าการจัดการข้อมูลถือเป็นข้อบังคับเชิงกลยุทธ์ แต่ก็ยังมีองค์กรหลายแห่งที่ยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้บรรลุผล”นอกจากนี้ มร. สตีฟ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “การดำเนินงานของหน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูล จะช่วยให้องค์กรต่างๆ เข้าใจการจัดการข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น และเข้าใจว่าการจัดการข้อมูลจะมีผลกระทบอย่างไรต่อผลประกอบการของบริษัท รวมทั้งเข้าใจวิธีการรายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการสำหรับแต่ละธุรกิจต่อสาธารณชน กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ หน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูลสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในองค์กรธุรกิจทั่วไป โดยองค์กรต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในหน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูลของเรานี้ได้ ในขณะที่เรากำลังสร้างมาตรฐานเพื่อความสมบูรณ์ขั้นต่อไปสำหรับกฏระเบียบวินัยด้านการจัดการด้านข้อมูลในปัจจุบัน”
หน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูลของไอบีเอ็ม IBM Data Governance Council ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวของบริษัทระดับโลก 50 แห่ง เช่น ธนาคารกสิกรไทย, แอ็บบ็อต แล็บส์, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส, แบงค์ ออฟ อเมริกา, แบงค์ ออฟ โตเกียว, เบลล์ แคนาดา, บีเอ็มโอ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ซิตี้แบงค์, ดอยช์แบงค์, ดิสคัฟเวอร์ ไฟแนนเชียล, มาสเตอร์การ์ด, นอร์เดีย แบงค์, วาโชเวีย, วอชิงตัน มิวช่วล, เวิลด์แบงค์ ฯลฯ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ ต่างร่วมกันบุกเบิกแนวทางปฏิบัติตัวอย่างสำหรับการประเมินความเสี่ยงและการจัดการข้อมูล เพื่อช่วยให้โลกธุรกิจสามารถใช้แนวทางที่มีระเบียบวินัยมากขึ้นในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อประโยชน์ของธุรกิจโดยรวม
- รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูลของไอบีเอ็ม สามารถเข้าไปที่
http://www-306.ibm.com/software/tivoli/governance/servicemanagement/data-governance.html
- รายละเอียดเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจข้อมูล” (Information Economy) สามารถเข้าไปที่
http://vecam.org/article724.html
- รูปของมร. สตีฟ แอดเลอร์ ประธานของหน่วยงานธรรมาภิบาลข้อมูล สามารถดาวน์โหลดได้ที่
https://www.yousendit.com/download/Q01FclVJWlR0TW52Wmc9PQ ก่อนวันที่ 25 กรกฏาคม 2551
# # #
แผนกประชาสัมพันธ์
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร
โทรศัพท์ : 0-2273-4117
อีเมล์: werakit@th.ibm.com