กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--เจเอสแอล
ฐานรากในการพัฒนาของประเทศก็คือ การพัฒนาการศึกษาให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างพลเมืองอันพึงประสงค์ หากแต่ช่องว่างในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่เหลื่อมล้ำ ได้ทำให้มาตรฐานและคุณภาพการศึกษา ของเด็กไทยไม่อาจเท่าเทียมกัน เด็กดี เด็กเก่งที่ขาดโอกาส ก็ไม่อาจพัฒนาขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญ ในการสร้างอนาคตของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการดำเนินโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน” ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา เกิดการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น มีการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้พอเพียง และเพื่อ การพัฒนาเด็กให้รู้จักคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออก เพื่อพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ลดช่องว่างทางสังคม และหลุดพ้นจากความยากจน
โครงการ “1อำเภอ 1โรงเรียนในฝัน” เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ซึ่งการดำเนินงานใน 4 ปีแรก (2546 — 2550) ก็ได้ผลเชิงประจักษ์ได้โรงเรียนในฝัน รุ่น 1 จำนวน 921 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 261 แห่ง ระดับมัธยมศึกษา 660 แห่ง ที่ผ่านการประเมินผลจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งผลการประเมินคุณภาพของนักเรียนโรงเรียนในฝัน เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนทั่วประเทศ พบว่าค่าเฉลี่ยผลการเรียนของนักเรียนโรงเรียนในฝันสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 2.51 ถึงร้อยละ 64.24 ขณะที่ผลการสอบ Admission ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในฝัน จำนวน 660 โรงเรียน พบว่ามีจำนวนนักเรียนที่สอบได้เพิ่มขึ้น นับจากปีการศึกษา 2546 จนถึงปี 2549 จำนวน 1,995 คน คิดเป็นร้อยละ 27.49 ซึ่งส่งผลให้ผู้ปกครองเกิดความไว้วางใจในมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนในฝันและส่งลูกหลานมาเรียนในเพิ่มมากขึ้นจากปี 2546 ถึงเกือบ 120,000 คน
มาถึงยุคของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ขยายฐานต่อยอดโรงเรียนในฝัน รุ่น 2 อีก 867 โรงเรียน และได้เพิ่มกลยุทธ์ในการดำเนินมากขึ้น ด้วยแนวคิด “โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้าน” ซึ่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้แสดงปาฐกถา “เด็กไทยในฝัน” ต่อผู้บริหารโรงเรียนในฝันรุ่น 1 และรุ่น 2 ที่มาร่วมประชุมสัมมนากว่า 2,000 คน ในพิธีเปิดโรงเรียนในฝันรุ่น 2 อย่าง เป็นทางการว่า การใช้ชื่อโครงการ “โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้าน” นั้น เป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้อง กับเป้าหมายที่กำลังดำเนินงานอยู่ เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลในการพัฒนาการศึกษาให้มากที่สุด โดยเปรียบเทียบระบบการศึกษาในต่างประเทศ ที่ผู้ปกครองส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะเชื่อมั่น จึงไม่ต้องดิ้นรนย้ายชื่อและทะเบียนไปอยู่ในเขตโรงเรียนดังเหมือนบ้านเรา ทั้งยังย้ำด้วยว่า โรงเรียนดีใกล้บ้านจะแก้ปัญหา “เด็กฝาก” ได้ตรงจุด เพราะทุกโรงเรียนจะมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องวิ่งเต้นฝากโรงเรียนดัง ที่ผู้ปกครองอาจต้องเสียทั้งเงิน และเสียใจ เมื่อลูกหลานได้เรียนเพียง 4 คาบ ก็ต้องถูกเชิญออกจากโรงเรียนอย่างที่เป็นข่าว
สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการยุคนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ “การฝึกเด็กไทยให้มีทักษะในการใช้ชีวิต คิดให้เป็น” เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น และเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ให้เด็กไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง ด้วยการเพิ่มความฉลาดอีก 2 ประการคือ ความฉลาดในการเอาชนะอุปสรรค และความฉลาดในการแก้ปัญหาและปรับตัว ซึ่ง รมว.สมชายได้กล่าวในตอนหนึ่งของการแสดงปาฐกถาว่า
“เราเคยพูดกันว่าเด็กไทยที่พึงประสงค์ ต้องมีคุณลักษณะ “สุข ดี เก่ง” ความสุข คือ มีความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ (Emotional Quotient) เป็นเด็กดี คือมีความฉลาดทางด้านคุณธรรม หรือ MQ (Moral Oral Quotient) เป็นคนเก่ง คือมีความฉลาดทางปัญญา หรือ IQ (Intelligence Quotient) แต่ “เด็กไทยในฝัน” จะต้องมีเพิ่มคุณลักษณะอีก 2 ประการ คือต้องมี “ความฉลาดในการเอาชนะอุปสรรค” หรือ AQ (Adversity Quotient ) และยังจำเป็นจะต้องมี ความฉลาดในการแก้ปัญหาและสามารถปรับตัวได้ หรือ SQ (Spiritual Intelligence Quotient) เพื่อให้เด็กไทยรุ่นใหม่ได้มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถเผชิญอุปสรรค ฉลาดที่จะแก้ไขปัญหา ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์และเท่าทันเทคโนโลยี เพื่ออนาคต ผมถือว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ทักษะชีวิต” ที่เราเสริมเติมเต็มเข้าไปให้เด็กๆ โดยเฉพาะโรงเรียนในฝันรุ่น 2 ที่จะได้มีกิจกรรมเสริมเพิ่มทักษะเหล่านี้”
4 ปีของโรงเรียนในฝัน จากที่เคยถามว่าเป็นฝันของใคร วันนี้ก็มีคำตอบที่มั่นใจได้ว่า 921 โรงเรียนรุ่น 1 และ 867 โรงเรียนของรุ่น 2 ล้วนเป็นโรงเรียนในฝันของชุมชน ที่จะมีโรงเรียนดีอยู่ใกล้ๆบ้าน และเป็นความฝันของคนไทยทุกคน ที่จะมีโรงเรียนดีๆ ที่จะผลิตบุคลากรที่ดีมีคุณภาพให้กับประเทศไทยเพื่อพัฒนาสังคม เศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
โทร. 02-731-0630 ต่อ 311 / 312