กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สำนักพิมพ์อิราโต้ พับลิชชิ่ง
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 สำนักพิมพ์อิราโต้ พับลิชชิ่ง ได้จัดการแสดงดนตรีและเสวนา “สื่อสำหรับเด็กและเยาวชน” ภายในงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 6 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งภายในงานนอกจากการเสวนาแล้ว ยังมีการแสดงดนตรีซึ่งมีที่มาจากงานเขียนในหนังสือตราบโลกนี้ยังหมุนรอบตัว ของขุนเขา ริมน้ำ อีกด้วย ขุนเขา ริมน้ำ (เปิ้น ปริญญา ธรรมโรจน์พินิจ) นักคิด นักเขียน กล่าวว่า ปัจจุบันเราจำกัดการรับรู้ของเด็กได้น้อยกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากสื่อ และช่องทางในการนำเสนอของสื่อที่มีมากขึ้น เพราะเพียงแค่เด็กอยู่ในที่ส่วนตัว เขาก็สามารถรับสื่อได้มากมายจากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ซึ่งเป็นการยากที่ผู้ใหญ่จะดูแล หรือคัดเลือกการรับสื่ออย่างใกล้ชิดเช่นอดีต ฉะนั้นผู้ใหญ่จึงควรปรับตัวให้ทันกับสื่อในปัจจุบัน เพื่อจะเข้าใจเด็ก และอธิบายความเป็นไป ความเข้าใจโลกให้กับเขา และสื่อเองก็ควรมีจิตสำนึก ระมัดระวังในการสื่อสารด้วยเช่นกัน เพราะสื่อที่ทำขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับผู้ใหญ่ บางครั้งเด็กและเยาวชนก็เป็นหนึ่งในผู้รับสารเหล่านั้นด้วย การสื่อสารกับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต่างจากผู้ใหญ่ซึ่งมีวิจารณญาณ และผ่านโลกมามากพอ ส่วนเด็กนั้นจะยังไม่ชัดเจนและเท่าทัน ฉะนั้นบางเรื่องที่เราจำกัดการรับรู้ไม่ได้ เราก็ควรอธิบายกับเขาให้ชัดเจน เช่น เรื่องเซ็กส์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติในการดำรงเผ่าพันธุ์ เราควรอธิบายเพิ่มเติมว่า ควรมีเมื่อถึงวัยอันเหมาะสมด้วย ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นการสนับสนุนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ขุนเขา ริมน้ำ กล่าวต่อว่า อยากให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมสื่อสำหรับเด็กมากยิ่งขึ้น เพราะเราจะเห็นได้ว่าชาติที่พัฒนาแล้ว ต่างให้ความสำคัญกับเด็ก หรือชาติที่กำลังพัฒนาอย่างเวียดนาม เขาก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนเป็นอันดับต้น ๆ ถึงขั้นมีเป้าหมายจะสร้างมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานและติดอันดับโลก ซึ่งการที่เราติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็ก เท่ากับเราปูพื้นฐานให้ประเทศในทุก ๆ ด้าน เพราะเด็กแต่ละคนเมื่อโตขึ้นจะประกอบอาชีพตามความถนัดของตนเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป และการส่งเสริมจินตนาการ กระตุ้นความคิดของเด็ก ย่อมดีกว่าการตีกรอบทางความคิด ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการประดิษฐ์ หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นในสังคม อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ นักเขียนการ์ตูนอิสระ กล่าวว่า สื่อปัจจุบันเปิดกว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดการสื่อสารแค่กลุ่มเป้าหมายใด สิ่งสำคัญผมว่าอยู่ที่เนื้อหาที่เราจะสื่อสารมากกว่า อย่างการ์ตูนก็เป็นเพียงช่องทางในการสื่อสารเท่านั้น ส่วนหลักการทำงานนั้นคงขึ้นอยู่กับจริยธรรมของนักเขียนแต่ละท่านว่าต้องการใส่ความคิดหรือสื่ออะไร และสื่อปัจจุบันเหมือนเหรียญสองด้าน การที่สื่อกว้างขึ้น เด็กรับสื่อได้มากขึ้น เพราะบางเรื่องถ้าเราไปกดทับมากกลับยิ่งทำให้เด็กอยากรู้อยากลองมากขึ้น การที่ผู้ใหญ่ไปปิดบางเรื่องเหมือนกับไม่มีเรื่องพวกนี้ แล้วเด็กแอบเรียนรู้เอง ผมมองว่าจะเป็นเรื่องอันตรายมากกว่า ส่วนการที่เด็กได้อ่านหนังสือเยอะ มีประสบการณ์เยอะขึ้น พอถึงจุด ๆ หนึ่งจะทำให้เขาอยากถ่ายทอดความคิดออกมา และโดยส่วนตัวอยากให้ทางรัฐสนับสนุนสื่อสำหรับเด็กมากขึ้น เหมือนต่างประเทศ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตซึ่งจะทำให้ราคาหนังสือลดลง และส่งเสริมการอ่านของเด็กให้มากขึ้นด้วย เกศรี กิจวิริยภากรณ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร U Life กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กกล้าแสดงความคิดเห็น และนำเสนอความเป็นตัวเองมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทั้งในรูปแบบการวาดภาพ หนังสือ หรือหนังสั้น เป็นต้น ส่วนสื่อเองก็เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งทำให้สื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่น่าเบื่อหน่าย และการที่เด็กได้แสดงความคิด ก็เหมือนการได้พัฒนาไม่หยุดนิ่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งในการใช้สื่อปัจจุบันของเด็ก คือ การติดภาษาอินเตอร์เนตนำมาใช้เป็นภาษาเขียนหรือพูด ซึ่งผิดเพี้ยนจากรูปแบบของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และแตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีการแยกภาษาพูด ภาษาเขียนกันชัดเจน จึงนับว่าเป็นเรื่องอันตรายต่อการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ในช่วงท้ายของงานหลังจากสิ้นสุดในส่วนของการเสวนา เป็นการแสดงดนตรีโดย พัชรินทร์ ช่อมะลิ ศิลปินอิสระ นักแซกโซโฟนหญิง กับเพลง “คำสั่งสอนกับความเป็นจริง” และ “ก้าวที่กล้าของคนมีฝัน” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสื่อตัวอักษรจากงานเขียนในหนังสือตราบโลกนี้ยังหมุนรอบตัว ของขุนเขา ริมน้ำ กับสื่อดนตรีเพื่อให้การสื่อสารเนื้อหาทางความคิดนั้นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ สำนักพิมพ์อิราโต้ พับลิชชิ่ง 08-6565-5620