กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัย ในพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ลำห้วย เตรียมรับมือดินโคลนถล่ม โดยร่วมกันพิจารณาสภาพความเสี่ยงภัย ของพื้นที่ กำหนดวางแผนเส้นทางอพยพหนีภัยและพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนัก ควรจัดเวรยาม เฝ้าระวังบริเวณต้นน้ำ สังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ เพื่อแจ้งเตือนชาวบ้านให้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และหย่อมความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ทำให้พื้นที่ภาคเหนือ และบางส่วน ของภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เพชรบูรณ์ ระยอง พังงา ภูเก็ต และตรัง มีโอกาสเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในระยะนี้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ติดลำห้วยหรือเนินหน้าหุบเขาที่มีร่อยรอยการเกิดดินโคลนถล่มหรือเลื่อนไหลให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียจากดินโคลนถล่ม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะให้ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม ร่วมกันกำหนดวางแผนเส้นทางอพยพหนีภัยและ พื้นที่ปลอดภัย โดยเส้นทางที่ใช้ในการอพยพควรอยู่ในพื้นที่ที่พ้นจากแนวการไหลของดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก จัดให้มีผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ดูแลอพยพหนีภัยโดยเฉพาะ สอนให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และเฝ้าระวังภัย หมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด สังเกตสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ โดยในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มมักมีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่า ๖ ชั่วโมง) ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีน้ำเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขา มีเสียงดังผิดปกติมาจากเขาหรือลำห้วย สัตว์ป่าแตกตื่น เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ชุมชนควรจัดเวรเฝ้าระวังบริเวณต้นน้ำที่สามารถเห็นการไหลหลากของน้ำป่า หากระดับน้ำของเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ในพื้นที่ต้นน้ำเกินกว่า ๑๐๐ มม. และพบสิ่งผิดปกติทางธรรมชาติ ดังข้างต้น ให้แจ้งเตือนประชาชนเตรียมย้ายสิ่งของและทรัพย์สินให้พ้นจากระดับน้ำและเตรียมการอพยพ ไปยังพื้นที่ปลอดภัยโดยด่วน หากสถานการณ์รุนแรงจนถึงขั้นต้องอพยพออกจากพื้นที่ให้อพยพไปตามเส้นทาง ที่วางแผนไว้ ในการอพยพอย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน หากพลัดตกไปในน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด เพราะอาจกระแทกกับซากต้นไม้หรือหินที่ไหลมาตามน้ำ ให้หาต้นไม้ขนาดใหญ่เกาะไว้ และปีนขึ้นให้พ้นน้ำจึงจะปลอดภัย สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเหตุดินโคลนถล่มและต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ ปภ. เขต ทั้ง ๑๘ เขต และสำนักงาน ปภ. จังหวัด ทั้ง ๗๔ จังหวัด หรือทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป