มข. ผนึกกำลัง สวทช. ร่วมพันธมิตรเครือข่ายITAP พัฒนาเทคโนโลยีเอสเอ็มอีอีสานบน

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday November 30, 2005 18:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สวทช.
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการภาคอีสานตอนบน 11 จังหวัด ภายใต้เครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP)แห่งที่6 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและศักยภาพการแข่งขันให้กับSMEsและวิสาหกิจชุมชน สอดรับนโยบายของรัฐฯ ในการช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนในภูมิภาค
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) เปิดเผยว่า
“ จากผลสำเร็จที่ผ่านมา และแนวโน้มความต้องการบริการของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP)ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สวทช. จึงมุ่งหวังที่จะขยายโครงการ ITAP ให้เป็นโครงการระดับประเทศ เพื่อสามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในส่วนภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น โดยการร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค จัดทำเป็นเครือข่ายโครงการ ITAP และจัดให้มีที่ปรึกษาเทคโนโลยี (ITA) อยู่ประจำเครือข่ายฯ เพื่อให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ล่าสุด สวทช.ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เพื่อเข้ามาเป็นเครือข่ายโครงการITAPแห่งที่6 สำหรับการให้บริการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการเชิงลึกแบบครบวงจรแก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งทาง สวทช. มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า ด้วยศักยภาพของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และความพร้อมของ สวทช. จะร่วมกันสร้างให้เป็นพลังส่งเสริมขีดความสามารถของภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ”
ด้าน ผศ.อารมย์ ตัตตะวะศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เป็นเสมือนการเริ่มต้นอีกโครงการหนึ่งระหว่าง สวทช. กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ที่สำคัญที่สุดคือ การที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม , หนองบัวลำภู , หนองคาย , อุดรธานี , เลย , สกลนคร , ชัยภูมิ , มุกดาหาร , กาฬสินธิ์ , มหาสารคาม และ ขอนแก่น ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในประเทศได้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้นำความรู้ หรือ ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ( Knowledge Based Economy ) เป็นยุทธศาสตร์หลักสู่กระบวนการจัดการทุกเรื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการที่จะเพิ่มหรือแก้ไขปัญหาความยากจนของภูมิภาคแห่งนี้ได้
“ ในเรื่องของบุคลากรนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯเองมีความพร้อมอยู่แล้วและมีความเข้าใจถึงสภาพปัญหาในท้องถิ่นเป็นอย่างดี เชื่อว่า จะทำให้การร่วมมือกันครั้งนี้ มุ่งไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดด เพราะมีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมในพื้นที่เจริญเติบโตตามไปด้วย โดยการร่วมสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ร่วมกันในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เคยได้รับการขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งที่สุด มีจำนวนประชากรมากที่สุด 1 ใน 3 ของประเทศ จะสามารถนำอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้” ผศ.อารมย์ กล่าว
ปัจจุบัน โครงการ ITAP มีการติดต่อกับภาคเอกชนมากกว่า 2,500 บริษัท โดยมีการวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้นแล้วกว่า 1,000 บริษัท และสามารถพัฒนาให้วิสาหกิจมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 720 บริษัท และมีที่ปรึกษาเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า ITA กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 34 คน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการ ITAP ได้รับการประเมินจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงมากกว่า 6 เท่า โดยมีปัจจัยความสำเร็จ 3 ประการ คือ การเน้นที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย มีการบริการที่ดีเลิศ และมีระบบเครือข่ายอย่างแท้จริง อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้อีก 15 ล้านบาทเมื่อกลางปี2548 ในการจัดทำโครงการ“สร้างเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาคอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ใน 3 กลุ่มหลักอีกด้วย.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)
คุณนก โทร.0-2619-6187 , 88 หรือ 0-1421-8133--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ