ดีเอสไอเพิ่มประสิทธิภาพ พนง.สอบสวนคดีพิเศษ ด้านสิทธิมนุษยชน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 22, 2008 15:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ดีเอสไอจัดโครงการ ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย หวังเติมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล แก่บุคลากรดีเอสไอและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้รู้ลึก รู้จริง และสามารถปฏิบัติงานปราบปรามอาชญากรรมคดีพิเศษอย่างได้ผล และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากล ว่าด้วย สิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ในฐานะเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกต่างมีเจตจำนงประการสำคัญว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีของปฏิญญาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนแก่บุคลากรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรม มี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในกระบวนการของกระทรวงยุติธรรมซึ่งมี 3 หน่วยงานดังกล่าว ทำหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนสอบสวน ตรวจพิสูจน์ อำนวยความยุติธรรม รวมทั้งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกันของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายกิติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และได้มอบนโยบายมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เสนอให้มีโครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ขึ้น เพื่อให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ได้รับการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลของสหประชาชาติ และสามารถนำหลักสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน
"สาระสำคัญคือนอกจากความรู้การปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายไทยแล้ว เราอยากให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมายคล้ายตำรวจได้มีความรู้แตกฉานในเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับตามกฎหมายในประเทศและในระดับที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อจะได้รู้อย่างลึกซึ้งและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีเหตุมีผล และตระหนักเป็นพิเศษว่าจะไม่ใช้วิธีที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าว
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษกำหนดจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ให้แก่ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 160 คน ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 08.30 -16.30 น. ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยมีสาระสำคัญ คือ
วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2551 เวลา 8.30-12.30 น. มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง "สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมไทย" โดย ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เรื่อง "Human Rights : The Road to Justice" โดย Mr.Homayuan Alizadeh Regional Representative,Office of High Commissioner for Human Rights : OHCHR เรื่อง "The Role of International Cooperation to Promoting and Protecting Human Rights" โดย Dr.Friedrich Hamvurger,Ambassador Head of Delegation, EU Delegation เรื่อง "อัยการกับการคุ้มครองสิทธิและค้นหาความจริงในการดำเนินคดี" โดย นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดหรือผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และเวลา 13.30-16.30 น. มีการเสวนาเรื่อง "สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย : กรณีศึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษ" โดย ศ.วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2551 เวลา 09.0-12.00 น. มีการอภิปรายเรื่อง "ประสบการณ์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของภาครัฐและเอกชน" โดย นายสมชาย หอมลออ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมานในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกุมพล พลวัน อัยการอาวุโส สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด และนายบุญเลิศ คชายุทธเดช บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์มติชน เวลา 13.00-16.00 น. การบรรยายพิเศษ เรื่อง "สิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานต่างประเทศ" โดย Mr.Philip A Guentert Resident Legal Advisor,United States Department of Justice, US Embassy และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานต่างประเทศ
งานเผยแพร่-ประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ