กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--ก.ล.ต.
บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนจะต้องยื่นเอกสารเพื่อลงทะเบียนรายชื่อกรรมการและผู้บริหาร กับ ก.ล.ต. (ผู้จัดการ และระดับบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการ รวมถึงผู้จัดการฝ่ายสายงานบัญชีหรือการเงินด้วย) ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะรับลงทะเบียนโดยอัตโนมัติ หากกรรมการและผู้บริหารไม่มีลักษณะต้องห้าม
กรรมการและผู้บริหารต้องดำรงคุณสมบัติโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง (fiduciary duty) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท
หากกรรมการและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เช่น การขาด fiduciary duty ในเรื่องการอนุมัติการทำรายการระหว่างกันโดยไม่มีเหตุผลอันควร หรือแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ หรือมีการใช้ข้อมูลภายในโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ เป็นต้น ก.ล.ต. จะขอให้ชี้แจงเหตุผล หรือ แก้ไขการทำรายการดังกล่าว
หากในที่สุดแล้ว บริษัทจดทะเบียนมีการทำรายการใดที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของ
บริษัท หรือเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ก.ล.ต. จะเสนอเรื่องให้ “ คณะทำงานวินัยกรรมการ ” พิจารณาข้อเท็จจริง ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการชี้แจง หากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเกิดจากเจตนาของกรรมการและผู้บริหาร หรือกรรมการและผู้บริหารไม่ยอมแก้ไขการทำรายการ คณะทำงานฯ
จะเสนอให้ ก.ล.ต. เพิกถอนรายชื่อจากระบบทะเบียนรายชื่อ ซึ่งอาจมีกำหนดระยะเวลา หรือ กำหนดเงื่อนไขของการเพิกถอน ตามลักษณะและระดับความร้ายแรงของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
การเพิกถอนรายชื่อกรรมการและผู้บริหารจะทำให้บริษัทที่มีบุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ไม่สามารถยื่นขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน และติดเงื่อนไขการดำรงคุณสมบัติการเป็นบริษัทจดทะเบียนตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับกรรมการและผู้บริหารดังกล่าว ก็จะไม่สามารถเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ได้
คณะทำงานวินัยกรรมการ
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้แต่งตั้งคณะทำงานวินัยกรรมการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2547 ทำหน้าที่พิจารณาและเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการกับกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กล่าวคือ หากพบว่าบริษัทจดทะเบียนใดมีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่เหมาะสม คณะทำงานจะเชิญกรรมการบริษัทมาชี้แจงและขอให้ปรับปรุงแก้ไข หากไม่ดำเนินการอาจเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ถอนชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากทะเบียนกรรมการบริษัท ซึ่งจะมีผลให้บริษัทใดที่มีบุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการบริษัทนั้นจะไม่สามารถเสนอขายหลักทรัพย์ได้ และจะขาดคุณสมบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียนตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย
คณะทำงานวินัยกรรมการ ประกอบด้วย
1. นายสมพล เกียรติไพบูลย์
หัวหน้าคณะทำงานกรรมการ ก.ล.ต.
2. นายประสงค์ วินัยแพทย์
คณะทำงานรองเลขาธิการ ก.ล.ต.
3. นายคณิต ณ นคร
คณะทำงานอดีตอัยการสูงสุด
4. นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย
คณะทำงานตัวแทนตลาดหลักทรัพย์ฯ
5. ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช
คณะทำงานนายกสภาวิชาชีพบัญชี
6. นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา
คณะทำงาน ตัวแทนบริษัทจดทะเบียน
7. นายชาญชัย จารุวัสตร์
คณะทำงานกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
8. นายวสันต์ เทียนหอม
ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต. เลขานุการ
9. นางวรัชญา ศรีมาจันทร์
ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและคดี ก.ล.ต. ผู้ช่วยเลขานุการ--จบ--